อุ้ม-วิภาวี กิตติเธียร - PASSION BRUNCH

คุณอุ้ม วิภาวี กิตตีเธียร หนึ่งในผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร SATARANA องค์กรที่มุ่งเน้นการทำงานด้านสาธารณะเพื่อตอบโจทย์และพัฒนาเมือง ผ่านการขับเคลื่อนเล็ก ๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอาทิเช่นผลงานจาก  MAYDAY, ATTENTION, LOCALL, และ TRAWELL ฯลฯ ที่จะทำงานร่วมกับชุมชนและภาครัฐบาลในเสริมสร้างประสิทธิภาพให้กับคนเมือง

ทำไมถึงเริ่มสนใจงานด้านสาธารณะ

ย้อนกลับไปในช่วงมหาวิทยาลัยในตอนนั้นอุ้มเลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหตุผลที่เลือกอาจจะฟังดูแย่นิดนึง เพราะตอนนั้นเราไปสอบเป็นเพื่อนเพื่อน แล้วดันติด ความจริงเราอยากเป็นนักบินมาตั้งแต่เด็ก แต่ที่บ้านไม่ได้สนับสนุนเราเท่าไหร่ พอเขารู้ว่าเราสอบติดแล้วเขาเลยบอกให้เราเรียนคณะนี้ไป

พอเราได้เข้ามาเรียนเรารู้สึกว่าสาขาวิชานี้มันสนุกมาก หลายคนชอบรู้สึกว่าการออกแบบผังเมืองมันจะสามารถเอาไปใช้จริงได้ไง มันเป็นแค่เรื่องในกระดาษและเขียนอยู่ในระดับนโยบายเท่านั้น แต่พอได้เรียน เราเห็นได้เลยว่าหลักสูตรและเนื้อหามันสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับเมืองได้เยอะกว่าแค่การทำนโยบาย มันมีหลากหลายมิติและหลากหลายความถนัด ภาควิชาผังเมืองประกอบด้วยทุกอย่างของเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งสาธารณะ ชุมชน และการออกแบบที่อยู่อาศัย
 
อุ้มเลยมองว่าตัวเราอยากทำสิ่งที่เป็น Small Change, Big Move เราอยากจะหาเงื่อนไขและการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ยากมาก แต่เน้นสร้างความเข้าใจกับคนกลุ่มเล็ก ๆ และไม่ได้ใช้เงินทุนมากนัก เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

ต่อยอดแนวคิดตัวเองหลังจากที่เรียนจบยังไง

ในตอนแรกที่ของการผลักดันไอเดียของ Small Change, Big Move ให้มันเกิดขึ้นจริงได้ จะเริ่มจากการตั้งเป้าหมายอะไรที่เล็กที่สุดและเป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งในตอนนั้นมีงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทำให้ถนนเส้นเมืองเก่าเดี๋ยวเปิดเดี๋ยวปิด สร้างความสับสนให้กับคนที่สัญจรไปมาและนักท่องเที่ยวในพื้นที่เป็นอย่างมาก หลายคนนั่งรถไฟจากต่างจังหวัดมาลงที่หัวลำโพงแล้วเขาก็ไม่รู้เลยว่าจากนั้นเขาต้องไปยังไงต่อ
 
ตอนนั้นเราคิดแค่จะทำแผนที่การเดินทางคล้าย ๆ กับหนังสือที่เปิดมาแล้วก็อธิบายเส้นทาง แต่ก็รู้สึกว่ามันยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เพราะมันเป็นไปได้ยากที่ทุกคนจะได้รับหนังสือเล่มนี้ เราอาจจะต้องจ้างอาสาสมัครจำนวนมากมาสแตนด์บายตามจุดต่าง ๆ เราเลยเริ่มมองหาวิธีการที่จะให้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้มากที่สุด ทีมของเราจึงเกิดความคิดว่าอยากจะใช้ประโยชน์จากช่องว่างบนป้ายรถเมล์ จึงลองนำเสนอแนวคิดนี้กับหน่วยงานรัฐ
 
คนจะชอบพูดว่าหน่วยงานรัฐคุยยาก ซึ่งเราว่ามันก็มีกรอบและขอบเขตอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำไม่ได้ เรามีไอเดียอะไรเราก็แค่กล้าที่จะไปเสนอเขาดู ลองเสี่ยงดู ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราทำพรีเซนเทชันไปนำเสนอด้วยวิธีการนำเสนอในแบบของเราเอง โดยไม่ได้รู้สึกว่าเราจำเป็นต้องพูดภาษาเดียวกับเขา ไม่จำเป็นต้องเป็นทางการขนาดนั้น 
 
แต่เราแค่อยากจะลองดูว่าเขาฟังแล้วจะเข้าใจเราไหม เรามาในฐานะของกลุ่มอาสาสมัคร และเรามองว่าข้อมูลที่เราทำเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญกับชาวกรุงเทพฯ และปัญหาที่เรานำเสนอมันก็เป็นเรื่องระดับพื้นฐานของเมือง เรื่องที่ทุกคนเข้าใจและเห็นปัญหา รัฐบาลเลยรับฟังและเข้าใจในสิ่งที่เราพยายามจะทำ กลายเป็นที่มาของโปรเจกต์ MAYDAY (โปรเจกต์รวมกลุ่มคนที่มีความสนใจอยากจะแก้ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะ ด้วยการนำข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์ช่วยในการสร้างความเปลี่ยนแปลง) 

จากความสำเร็จในการทำ MAYDAY หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ผลงานชิ้นนี้เปิดประตูให้เราได้ไปเจอกับงานประเภทอื่น ๆ อีก ถือว่าโชคดีด้วยเพราะ MAYDAY สร้าง creative pressure (การผลักดันเชิงสร้างสรรค์) ต่อสังคมและกลายเป็นผลงานสร้างชื่อเสียงให้กับทีม หลังจากนั้นพูดอะไรไปคนก็เริ่มเชื่อพวกเรามากขึ้น เพราะคนมองว่าสิ่งที่ MAYDAY ทำเป็นสิ่งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครกล้าที่จะแฮ็ก (hack) มาก่อน แต่ช่วงหลังจาก MAYDAY จะเป็นการแก้ไขจากโจทย์ที่ทางหน่วยงานรัฐมอบให้ซะมากกว่าการคิดโจทย์ขึ้นมาเอง

ความท้าทายของคุณอุ้มในการทำงานหลังจากเริ่มเป็นที่ยอมรับ

ความท้าทายยังมีอยู่ทุกวัน เรื่องการที่คนหลงจากการขึ้นรถเมล์ไม่ใช่ปัจจัยเดียวทำให้คนไม่ขึ้นรถเมล์ แต่มันคือสภาพรถเมล์ที่เก่าและไม่มีความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราขึ้นไปแล้วพอลงมาจากรถ เราแทบจะเหมือนผ่านสงครามมา (หัวเราะ) อย่างตอนนี้อุ้มไม่ได้ใช้รถเมล์เท่าไหร่ เพราะเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในการเดินทาง แต่เรายังต้องขับตามหลังรถเมล์แดงครีมที่ปล่อยควันเสียนี้อยู่ วันไหนที่เราต้องขับตามรถเมล์สีนี้วันนั้นจะกลายเป็นวันที่แย่ไปเลย
 
ทุกวันนี้เราเห็นป้ายรถเมล์สวยขึ้น แต่มันยังมี facilities (สิ่งอำนวยความสะดวก) อื่น ๆ อีกเยอะมากที่ยังต้องได้รับการออกแบบ มันเป็นงานเชิงโครงสร้างที่ทุกวันนี้หน่วยงานรัฐยังหาคำตอบไม่ได้ และคนที่เป็นเหยื่อของสิ่งนี้คือพลเมืองเอง
 
ความท้าทายจริง ๆ คือเราอยาก แฮ็ก (hack) ที่ต้นตอของปัญหา มากกว่าการแก้ทางอ้อม เรายังคงไม่แน่ใจว่าปัญหามันอยู่ที่เจ้าหน้าที่ อำนาจ หรือโครงสร้างของหน่วยงาน แต่มันต้องหาให้เจอและสร้างคุณภาพให้พลเมืองเยอะขึ้นกว่านี้ได้แล้ว

เมืองที่ดีคือเมืองที่มี active citizen (พลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม) เยอะ ๆ active citizen ไม่ใช่แค่บ่น แต่พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วย

จะเป็นไปได้ไหมที่พลเมืองตัวเล็ก ๆ จะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหญ่ได้

อุ้มคิดว่ามันทำได้หมด เมืองที่ดีคือเมืองที่มี active citizen (พลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม) เยอะ ๆ แต่ไม่ใช่เวอร์ชันมนุษย์ป้าที่จะต้องโวยวายทุกอย่างนะ สำหรับเรา active citizen ไม่ใช่แค่บ่น แต่พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วย เราเองเชื่อใน power of youth energy (พลังของคนรุ่นใหม่) ด้วยการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ นำความเชี่ยวชาญเหล่านี้มาขยายออก ให้มันไม่ใช่แค่ความ exclusive (สิทธิพิเศษ) ที่เอาไว้ใช้สำหรับคนเฉพาะกลุ่ม แต่เป็น inclusive material (ของส่วนรวม) สำหรับทุกคนที่จะใช้แก้ปัญหาเมือง เราว่ามันน่าจะสนุกมาก ๆ
 

หมายถึงใครก็ได้ที่มีความสามารถอะไรสักอย่างก็สามารถทำได้ใช่ไหม

ใช่ ใครจะมีความสามารถอะไรก็ได้เลย อย่างออฟฟิศเรามีแค่เราคนเดียวที่เรียนผังเมือง นอกจากนั้นจะเป็นกราฟิกดิไซเนอร์ วิศวะคอมฯ หรือแม้แต่คนที่เรียนวรรณกรรมเด็กและรัฐศาสตร์อยู่ด้วย ทุกคนล้วนมีความเชี่ยวชาญตามสายงานของตัวเอง มีวิธีการจัดการกับปัญหาและมุมมองที่ต่างกันออกไป
 
สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ เรามีนวัตกรรมเกิดใหม่ตลอดเวลา ของที่เคยทันสมัยในสามเดือนที่แล้ว ตอนนี้กลับเชยไปแล้ว อุ้มว่าสิ่งพวกนี้ต้องนำมาใช้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คนไลฟ์ขายครีม ขายอาหารเสริม เรามองว่าเขาโคตรเก่งเลย ถ้าเราทำแบบนั้นกับสินค้าในชุมชนมันจะกลายเป็นอีกเรื่องนึงเลย

ความหมายที่แท้จริงของชุมชนมันคือ community มันคือ neighborhood ที่ไม่ได้หมายความถึงความยากไร้หรือความเหลื่อมล้ำอย่างเดียว

ถ้าอยากช่วยเหลือชุมชนควรเริ่มยังไง

เราว่าการเข้าหาชุมชนไม่ใช่เรื่องที่ยาก แต่คนไทยกันเองเวลาที่เห็นชุมชนทำสินค้าเขามักจะซื้อมันด้วยความสงสาร แต่ไม่ได้ซื้อเพราะมันเป็นงานคราฟต์ที่ดี ของแท้ที่สุด อร่อยที่สุด มันแทบจะไม่ได้มีมุมมองนั้นเลย ซึ่งความหมายที่แท้จริงของชุมชนมันคือ community (ชุมชน) มันคือ neighborhood (ย่าน) ที่ไม่ได้หมายความถึงความยากไร้หรือความเหลื่อมล้ำอย่างเดียว
 
เวลาที่อุ้มเข้าไปหาชุมชน อุ้มจะไม่ได้มองว่าเราต้องทำอะไรบางอย่างให้กับเขา แต่ปัญหาของชุมชนคือการอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน เหมือนเป็นญาติพี่น้องกันในย่านนั้น ๆ จะแตกต่างกับตอนนี้ที่คนรุ่นพวกเราที่ไม่ได้รู้สึกเป็นญาติหรืออยากสานสัมพันธ์กับคนร่วมตึก ร่วมอะพาร์ตเมนต์กับตัวเราเอง แต่สำหรับคนเหล่านั้นที่ยังรู้สึกว่าต้องอยู่ด้วยกันเป็นชุมชนเหมือนเดิมมักจะเป็นผู้สูงอายุ อยู่ในอีกวัย ที่ทำแต่อะไรเดิม ๆ ปัญหาของคนเหล่านี้คือมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาทักษะตัวเองได้ แต่ทักษะที่จำเป็นมาก ๆ ที่ต้องใช้ในยุคนี้กลับไม่มี เช่น ไม่ใช้เทคโนโลยี สื่อสารไม่ได้ ไม่เข้าใจออนไลน์แพลตฟอร์ม สำหรับเราช่องว่างนี้มันเล็กนิดเดียวเอง แค่เราสอนป้าใช้เฟซบุ๊ก สอนป้าลงขายออนไลน์ ก็ช่วยได้เยอะแล้ว สิ่งที่ตอนนี้ทีมพยายามทำคือไม่ใช่พัฒนาความสามารถ แต่สอนเพื่อให้เขาทำได้มากกว่าที่ทำอยู่ เราไม่ได้เข้าไปเพราะสงสาร แต่อยากเติมเต็มไม่ให้เขาตกหล่นไปตามกาลเวลาเท่านั้นเอง

เราออกแบบพื้นที่หรูหรากันได้เป็นอย่างดี แต่ทำไมจะต้องทำพื้นที่พิเศษให้มันสวยขนาดนั้น ทำไมเราไม่ทำให้ทั้งหมดมันเป็นพื้นที่ที่สวยไปพร้อมกันได้สำหรับทุกคน

มีความคิดเห็นกับคำว่า ‘สาธารณะ’ ยังไง

สำหรับเรามันมีความหมายในเชิงกายภาพ ในเชิงความรู้สึก และในเชิงการดำเนินงานด้วย ถ้ามองลึกลงไปมันคือเรื่องของส่วนรวม อย่างตอนนี้เรามีห้างฯ ในเมืองสวยมาก ๆ เรามี super car parking (ที่จอดรถพิเศษสำหรับรถหรู) เราออกแบบพื้นที่หรูหรากันได้เป็นอย่างดี แต่ทำไมจะต้องทำพื้นที่พิเศษให้มันสวยขนาดนั้น ทำไมเราไม่ทำให้ทั้งหมดมันเป็นพื้นที่ที่สวยไปพร้อมกันได้สำหรับทุกคน ความเป็นส่วนรวมมันแค่ต้องเอาทุกอย่างมาเขย่ารวมกันและออกแบบให้มันสมดุลยิ่งขึ้น
 

มีเรื่องอะไรที่อยากเล่าและไม่เคยแชร์มาก่อนเกี่ยวกับตัวเอง

เรื่องที่เราพูดด้านบนจริง ๆ มันอาจจะไม่ใช่แพสชันของเราซะทีเดียว แพสชันจริง ๆ ของเราคือการได้รู้สึกสำเร็จในเป้าหมายหรือบททดสอบต่าง ๆ เราชอบที่จะเจอกับปัญหาที่ยาก หรือที่ใครหลายคนบอกว่าทำไม่ได้แล้วเราสามารถทำได้ ด้วยบุคลิกเหล่านี้มั้งเลยทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ค่อนข้างเร็ว เพราะเราไม่กลัวที่จะกระโดดออกไปนอกวงกลมของตัวเอง เราอยากรู้ด้วยซ้ำว่านอกวงกลมนั้นมันกลมจริงหรือเปล่า หรือมันอาจจะเป็นสี่เหลี่ยมก็ได้
 
การอยากเอาชนะอาจจะมองดูเหมือนโรคจิตนิด ๆ นะ แต่การชนะไม่ได้ทำให้เราดีใจ การชนะทำให้เรานอนหลับ หัวเราะ และมีความสุข ตอนนี้เราอายุจะ 30 ปีแล้วเราโตมากับวิธีคิดแบบ workaholic (บ้างาน) ไม่ใช่ work life balance (สมดุลระหว่างงานและชีวิต) เราไม่เคยแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกันเลย เพราะเราใช้ชีวิตร่วมกับงานเยอะมาก ๆ ฉะนั้นงานมันควรเป็นชีวิตเรา เราผสมงานกับตัวเราหมดเลย ถ้าเราง่วงมากตอนประชุมเราจะขอเบรก 15 นาทีแล้วไปพักก่อน
 
ความจริงเราก็ยังต่อสู้กับการบอกว่าแพสชันของเราคืออะไร เพราะส่วนใหญ่คำตอบทั่วไปของคนอื่นมักจะออกมาในรูปแบบของหัวข้อหรือหัวเรื่องอะไรบางอย่าง แต่สำหรับเรามันเกิดแพสชันแบบนั้นขึ้นในช่วงเวลาที่สั้นมาก ๆ มีอยู่ช่วงนึงที่เราอินการเล่นเซิร์ฟ เราก็จะพยายามยืนบนกระดานให้ได้ พอทำได้แล้วก็โอเคละ พอแล้ว มันเป็นแค่แพสชันช่วงสั้น ๆ ถ้าถามว่าอุปนิสัยที่เป็นอยู่แล้วทำให้ทุกอย่างมันสำเร็จได้คงเป็นการใช้ชีวิตแบบที่มีความท้าทายอยู่ตลอดเวลา ถ้าวันไหนที่ตื่นมาแล้วรู้สึกว่าสำเร็จแล้วทุกอย่างคงเป็นวันที่ไม่มีความสุข อย่างปีหน้าเราอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องเมืองแล้วก็ได้นะ แต่การเปลี่ยนไปชอบเรื่องอื่นมันก็ไม่ได้แปลว่าเราสำเร็จกับสิ่งนั้น แต่มันคือความพอใจส่วนตัวของเรา

บุคคลที่อยากแนะนำให้รู้จัก

ในการทำงานเราจะได้เจอคนเยอะมาก ๆ แต่จะมีน้องคนนึงที่เคยมาฝึกงานกับเราชื่อ ไอ้เคี้ยง ตอนนั้นเคี้ยงมาฝึกงานหลังจากจบ ม. 6 เพราะสอบติดหมอไปแล้วไม่มีอะไรทำ เคี้ยงเป็นเนิร์ดรถเมล์ จำได้ทุกสาย แล้วน้องก็ชอบโคนันมาก จำได้ทุกตอน ที่เลือกเรียนหมอเพราะอยากเข้าใจตอนที่โคนันพูดเกี่ยวกับการชันสูตรศพว่ามันเป็นจริงแบบนั้นไหม
 
อีกคนนึงคืออาเจ็กสมชายที่เยาวราช เขาเป็นเหมือนปราชญ์ในพื้นที่ มีความรู้ในเชิงวัฒนธรรมที่ลึกมาก ๆ พอได้คุยกับเขาจะรู้เลยว่าเขาชอบวิถีความเป็นชาวจีนที่สุด เป็นหนึ่งคนที่อยากจะเอาทุกอย่างออกมาจากหัวเขาให้หมดก่อนที่เขาจะลืม หรือลาจากไป
 
ถ้าเป็นมุมมองของการทำงานหรือการใช้ชีวิตที่สร้างความเปลี่ยนแปลง ขอแนะนำรองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ เพราะเป็นทีมร่วมกัน ทำงานด้วยกันมาตลอด ถ้าเป็นเรื่องแพสชันเรามองว่าเขาแรงกว่าเราเยอะ
 

หนึ่งประโยคสำหรับคนตามหาแพสชัน

อาจจะไม่ต้องไปหามันก็ได้ การหาแพสชันมันอาจจะเป็นแค่การลองเปลี่ยนวิธีคิดหรือวิถีชีวิตดูบ้าง ไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ยาก เช่น ถ้าเมื่อก่อนเคยนั่งรถไปทำงานแล้วรู้สึกว่ามันง่าย ไม่มีความท้าทาย ลองไปนั่งรถเมล์ เดินไปทำงาน หรือวิธีอื่น ๆ ดู ลองไม่กินข้าวร้านเดิม นอนเร็วขึ้น อะไรง่าย ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อยอาจจะทำให้เราได้เจอแพสชันระหว่างทางก็ได้

Secret Facts

การเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพราะต้องมาทำงานในสำเพ็ง ไม่มีที่จอดรถยนต์ มันทำให้เราเข้าใจอย่างแท้จริงว่าถนนในกรุงเทพฯ มันแซ่บแค่ไหน

สิ่งที่ชอบทำในชีวิตประจำวันที่คนอื่นไม่รู้

เราชอบอยู่ในห้องน้ำ สำหรับเราห้องน้ำมันเป็น safe space (พื้นที่ปลอดภัย)
 

เหตุการณ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับตัวเรา

การเปลี่ยนมาขับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า บางคนบอกว่าจากคนที่ขับรถมาทำงานทุกวัน ใช้รถไปไหนมาไหน ไม่มีทางเปลี่ยนมาเดินทางสาธารณะได้หรอก เราจะบอกว่ามันทำได้เพราะเราก็เป็นคนที่ขับรถมาทำงานมาตลอดจนพอย้ายออฟฟิศเข้ามาอยู่ในสำเพ็ง รถเข้าไม่ได้ และกลายเป็นต้องนั่งแกร็บไบค์เข้ามาแทน จนมันมีอยู่วันนึงที่เราได้ลองใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าและตัดสินใจซื้อเพราะคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดีและสะดวกที่สุด
 
พอได้มาขับจริง ๆ ทำให้รู้เลยว่าถนนกรุงเทพฯ มันแย่แค่ไหน ตอนเราขับรถยนต์เรามาด้วยความเร็วเลยไม่ทันสังเกตอะไร แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าถนนกรุงเทพฯ มันแซ่บมากจริง ๆ นอกจากนี้เรายังได้เพื่อนใหม่ในทุกแยกไฟแดง ที่จะเป็นเพื่อนกันแค่สิบวิ เร็วยิ่งกว่าทินเดอร์หรืออะไรทุกอย่าง
 

ตอนที่รู้สึกดีใจที่สุดในชีวิต

เออไม่มีนะ เรารู้สึกว่าตัวเองมีชัยชนะระหว่างทางของแต่ละวันตลอด เลยไม่แน่ใจว่าดีใจที่สุดในชีวิตตอนไหนเหมือนกัน
 

สถานที่ที่ชอบที่สุด

Memory Beach เขาหลัก บรรยากาศในพื้นที่มันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องช้าลง
 

สีที่ชอบที่สุด

ชอบสีแดง จริง ๆ สีแดงเป็นสีอัปมงคลของเรา แต่ก็ยังชอบสีแดงอยู่ดี
 

EXPLORE MORE