TNOP mentorship - PASSION BRUNCH

จาก TNOP Internship มาเป็น TNOP Mentorship Program จุดเปลี่ยนในการสรรหานักศึกษาฝึกงานเข้ามาทำงานใน TNOP DESIGN สตูดิโอกราฟิกดีไซน์ โดยคุณธีรนพ หวังศิลปคุณ ความพยายามที่จะเปลี่ยนโครงสร้างรูปแบบเดิมที่มองว่าการที่มีเด็กฝึกงานคือการเข้ามาแบ่งเบางานที่ทำอยู่ แต่เป็นการมองลงไปถึงผลลัพธ์และการถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ถูกฝึกได้นำกลับไปปรับใช้ในการทำงานในอนาคตได้อีกด้วย

ก่อนที่จะเป็น TNOP Mentorship Program ผมเรียกการฝึกงานรูปแบบนี้ในช่วงปีแรกๆว่า TNOP School อยากให้เป็นเหมือน summer school และส่วนตัวไม่ชอบคำว่าอินเทิร์นชิปเท่าไร แต่เมื่อสองสามปีที่ผ่านมาก็ใช้คำว่า school น้อยลงเพราะมองว่ามันเริ่มไม่ตรงประเด็น อีกอย่างผมมองตัวเองเป็น mentor ไม่ใช่ instructor ผมเอาประสบการณ์มาแชร์และคอยผลักดันมากกว่าการบอกหรือออกคำสั่งให้ทำตามเท่านั้น ผมจะอยู่ข้าง ๆ เหมือนเป็นพี่เลี้ยงเท่านั้น อีกอย่างหนึ่งคำว่าเมนเทอร์ชิป มันสามารถที่จะทำให้ตัวสตูดิโอเชื่อมโยงกับเด็กได้ใกล้มากยิ่งขึ้น
 
วิธีการเลือกรับนักศึกษาฝึกงานของสตูดิโอผมคือ ผมไม่ได้มองพวกเขาเป็น เด็กฝึกงานแต่มองเขาเป็นดีไซเนอร์คนหนึ่ง เราจะทำงานจริงร่วมกัน นั่งฟังบรีฟด้วยกันและเอ็กซ์โพล โจทย์ไปด้วยกันกับดีไซเนอร์ประจำในสตูดิโอในช่วงเวลาของการฝึกงานเราจะมีชั่วโมงของการเลกเชอร์ที่มีการสอนกึ่ง ๆ เป็นคลาสที่สอนความรู้ในเชิงการคิดงานและงานโปรดักชันด้วย เลยลองวางโครงสร้างวิธีการที่เด็กควรจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างกลับไป เราอยากจะใส่เรื่องที่เป็นประสบการณ์ในการใช้ชีวิตเป็นนักออกแบบเข้าไปจริง ๆ ด้วยเลย

แต่ด้วยข้อจำกัดของสถานที่ตอนนั้นรับเด็กได้แค่ 4-6 คนต่อรอบ เราพยายามจะสร้างไดนามิกด้วยการที่เราจะรับแค่ 1 คน ต่อ 1 มหาวิทยาลัย ผมเริ่มดูพอร์ตโฟลิโอ มากขึ้นและมีการสัมภาษณ์ก่อน เหมือนเลือกรับเข้าโรงเรียนเลย และคิดความเป็นไปได้ในคอมไบเนชัน ในการทำงาน สตูดิโอเราเป็นสตูดิโอขนาดเล็ก เราไม่ได้เสนอเงินให้กับน้อง ๆ ที่เข้ามาฝึกงานแต่ให้ในความรู้ ประสบการณ์ และ connection เพราะมันก็เป็น investment ของเราเหมือนกันทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
เราพยายามที่จะมองไปถึงความต่างในสถานะทางสังคม ต่างศาสนา ต่างจุดยืนด้วยซ้ำ เราต้องการสะท้อนภาพจริงของสังคมของพวกเขาที่จะได้ออกไปพบเจอในอนาคต ทั้งการทำงานกับคนที่หลากหลายและแตกต่าง หรือดีลกับคนที่มีความเชื่อและถูกสอนมาไม่เหมือนกัน โอกาสไม่เท่ากัน ฉะนั้นเราเลยอยากได้นักศึกษาที่มาจากมหาวิทยาลัยไกล ๆ ไปเลย หรือ คนที่เขาไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงอะไรมากเท่ากับเด็กที่เรียนอยู่ในเมือง เราอยากให้โอกาสและเปิดทางให้นักศึกษาเหล่านั้นเข้ามาแล้วเจอกับนักศึกษาที่อยู่ศูนย์กลางของกรุงเทพฯ เลย มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด ที่เขาว่ามีอาจารย์ที่มาสอนเก่ง ๆ ทั้งนั้นเลย มาเจอกัน มาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกัน
 
การจำลองสังคมเพื่อให้เขาได้ดีลด้วยโดยใช้ดีไซน์เป็นตัวเชื่อมโยงทั้งหมด นี่คือจุดประสงค์ของเรา จนเราได้เริ่มมีเด็กจากต่างประเทศเข้ามา เพราะ social media ทำให้งานของเรามันไปถึงในหลากหลายประเทศทั่วโลก บางทีเราก็จะได้รับอีเมล์ขอสมัครจากสเปน ฮ่องกง หรืออินเดีย ก็มีเข้ามาเรื่อย ๆ ปีหนึ่งเราเคยมีคริสเตียนกับมุสลิมมาอยู่ด้วยกัน หรือมี LGBTQ+ มาด้วย ผมว่าแบบนี้มันสนุกกว่า ผมวางแผนไว้ให้เหมือนกับการได้มา workshop ด้วยกันสามเดือน เหมือนมาแคมป์อะไรแบบนั้น ในที่สุดเราเลยเรียกมันเป็นโปรแกรม โดยเราอยากถ่ายทอดชุดความรู้หนึ่งออกไปแล้วเรียกสิ่งนี้ว่า TNOP Mentorship Program 
 
เรามักจะบอกกับพวกเขาตั้งแต่เริ่มเลยว่าสิ่งที่เราถ่ายทอดให้มันไม่ใช่อะไรที่ตายตัว ไม่ใช่อะไรที่ว่าจะต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป ถ้าเจอจุดไหนที่เป็นประโยชน์ก็สามารถเลือกเอาไปปรับใช้ต่อได้ นำความรู้นี้ไปถ่ายทอดต่อ ผมไม่เคยมองว่าสิ่งที่ผมสอนหรือความรู้ที่ผมให้มันเป็นความลับ มันไม่ขนาดนั้น เพราะเมื่อความรู้เราเปิดให้แล้ว มันไม่ควรมีอะไรมากั้น 

มีวิธีในการคัดเลือกนักศึกษาอย่างไร

วิธีการเลือกนักศึกษาของเราที่เลือกคนที่มาจากต่างที่กันไม่ได้หมายความว่าเราเลือกเด็กที่เก่งที่สุดจากทุกที่ เด็กที่เราเลือกมาไม่ใช่เด็กที่มีพอร์ตที่ดีที่สุด เราพยายามเลือกกลุ่มคนที่แตกต่าง สมมติเราเริ่มเลือกจากใครคนใดคนหนึ่งก่อนเป็นตัวยืน แล้วเราอยากจะสร้างสังคมสังคมหนึ่งให้เขามันจะต้องการคนแบบไหนอีก เราอาจจะเลือกเด็กที่เก่งเชิง marketing มาแล้วอีกคนที่ออกแบบไม่ได้เก่งเท่าไรแต่เป็นคนที่พูดคุยรู้เรื่องมาก หรือเลือกเด็กที่เก่งในการทำงาน styliing มากๆ หรือมีคนที่ใช้ภาษาอังกฤษเก่ง สื่อสารเก่งมาก ๆ ทั้งพูดและเขียน เราจะเริ่มมองเห็น formula (สูตร) ว่าคนกลุ่มนี้จะสามารถช่วยเหลือกัน เรียนรู้และผลักดันกันได้ เพราะมันเป็นความสัมพันธ์แบบหนึ่งที่จะต่อยอดเขาไปได้ในอนาคต 
 
อีกจุดหนึ่งที่เราพยายามสอนมาก ๆ พยายามจะสอนให้เด็กเข้าใจคำว่า teamwork เพราะมันเป็นปัญหาของประเทศนี้ที่เวลาดีไซเนอร์ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้ ดีไซเนอร์มักมีความเป็นตัวของตัวเองสูงและไม่ได้ถูกสอนให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ง่าย  เราเคยเลือกนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเดียวกันมาอยู่ด้วยกัน แล้วมีอีกคนมาจากอีกที่หนึ่งเหมือนกลายเป็นแกะดำ มันไม่สามารถเข้ากลุ่มได้เลย พอเราวางกฎใหม่ปรากฏว่ามันทำให้เข้าหากันมากกว่า ถ้าเขามากับเพื่อนจากที่เดียวกัน เขาจะมีตัวตนบางอย่างที่เพื่อนเขาเห็นอยู่แล้วไม่สามารถแสดงออก หรือลองอะไรใหม่ ๆ ลองเป็นตัวเอง เพราะจะรู้สึกว่าเหมือนโดนตัดสิน และไม่สามารถหลุดออกจากสิ่งเดิม ๆ ได้
 
บางคนอาจจะมองว่ามันไม่สำคัญอะไร เพราะจบจากการฝึกงานแล้วก็คงไม่ได้ติดต่อกัน แต่เราพยายามจะโชว์สิ่งนี้ผ่านผลลัพธ์ของเด็กที่มาฝึกงานออกไป บางครั้งเขายังคงติดต่อกัน ออกไปทำงานด้วยกัน ทำโปรเจกต์ด้วยกัน ผมรู้สึกแฮปปี้มากเลย การเอาการฝึกงานตรงนี้ไปต่อยอดต่อไป ผมยังรอดูมาตลอด เพราะเราก็เริ่มทำมาไม่ถึงสิบปี รอดูพอน้องๆ เหล่านี้โตขึ้นมาแล้วหวังว่าความรู้ตรงนี้มันจะเป็นจุดเปลี่ยนวิธีการทำงาน หรืออุตสาหกรรม

วิธีในการพัฒนานักศึกษาเป็นอย่างไร

เวลาที่เรานำ case study มาแชร์ให้น้อง ๆ หรือโปรเจกต์ที่เราจะเล่าเนี่ยเราไม่ได้จะโฟกัสที่จุดเดียวตลอด เราว่าเด็กทุกคนมีความถนัดที่แตกต่างกัน เด็กทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง บางทีมหาวิทยาลัยสอนและชี้นำเขาไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไปจนทำลายความมั่นใจของเด็กที่กำลังค้นหาศักยภาพของตัวเองจริง ๆ มหาวิทยาลัยมันควรเป็นกึ่ง ๆ nursery ให้เด็กได้ทดลองไปในหลากหลายทางและค้นพบสิ่งที่ตัวเองถนัด เด็กทุกคนมี hidden potential ของตัวเอง อยู่ที่ว่าเขาจะไปเจอมันตอนไหน

อีกจุดหนึ่งที่เราพยายามจะบอกเด็กคือการเขียน บางทีดีไซเนอร์พอรู้ว่าต้องเขียนก็กลัว รู้สึกว่ามันไม่ใช่หน้าที่อะไรที่ต้องทำ หรือสำคัญอะไร แต่สำหรับผมอะไรที่เป็นการสื่อสารมันคือหน้าที่ของเราทั้งหมด ฉะนั้นเราให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มาก ๆ เด็กบางคนพอได้มาทำพรีเซนต์เขาก็เก่งในการเล่าในการอธิบายเชิงโครงสร้าง เราให้น้อง ๆ ได้ลองทำดูว่าเขาสามารถทำได้ไหม ถ้าเขาทำได้แล้วจะเป็นประโยชน์กับเขาผมก็ดีใจมาก ๆ

พาไปคุยกับนักศึกษาฝึกงานในปีนี้กันว่าพวกเขาคิดเห็นยังไง

ฟ้า นักศึกษาจาก King Mongkut's Institute of Technology Ladkrabang (Faculty of Architecture - Communication Art & Design)

ฟ้ารู้สึกดีที่ได้โอกาสมาเจอเพื่อนที่เป็นต่างชาติ ต่างมหาวิทยาลัย และแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆ ร่วมกัน เราเคยเจอแต่คนไทย เราไม่มีทางรู้เลยว่าต่างชาติเขาเรียนกันยังไง อย่าง Yoo Rim มาจากเกาหลี เรียน Fine Arts (จิตรกรรม) ในปี 1 แต่ก็ยังสามารถย้ายมาเรียน Visual Communication ในปีถัดไปได้ มันทำให้เราได้เรียนรู้วิธีคิดในอีกแง่มุมมาก ๆ มันทำให้เราสนใจในวิธีคิดและการเรียนการสอนของคนในต่างประเทศมาก ๆ 

เรียนรู้อะไรอีกบ้างจากการที่ได้ทำงานไปด้วยและมีเลกเชอร์ไปด้วย

รู้สึกได้เรียนรู้ในคลาสไปด้วยกัน พัฒนาชุดความคิดและจับประเด็นไปด้วยกัน

ตอนเรียนมันมีแค่โจทย์แต่ไม่เหมือนการทำงานเป็นทีม มันเหมือนตัวใครตัวมันมากกว่า ที่นี่ทุกคนมีความคิดที่หลากหลายและเป็นตัวของตัวเองมาก เราจะได้คำแนะนำที่มาจากบริบทที่ต่างจากตัวเราไปเลย ตอนอยู่มหาวิทยาลัยเหมือนทุกคนมีชุดความรู้เดียวกัน คิดอะไรคล้าย ๆ กัน อย่างฟ้าจะชอบมองที่ปลายทางของงานออกแบบ แต่เพื่อน ๆ ทุกคนที่ TNOP Mentorship จะเริ่มจากการเก็บข้อมูลก่อนและไม่คิดถึงตอนจบ แต่คิดระหว่างทางว่ามันควรเป็นยังไง ซึ่งเราเห็นด้วยกับสิ่งที่เพื่อนบอกนะ การเริ่มจากวิธีคิดทำให้งานแข็งแรงและตรงประเด็นกว่า

บอส นักศึกษาจาก Srinakharinwirot University (Communication Design)

ตลอดระยะเวลาสามเดือน มีทั้งเลกเชอร์และการทำงานจริง พี่ธีกับพี่ตี้ (ดีไซเนอร์) มักจะให้เราทำงานไปก่อนแล้วค่อยมา shape และแนะนำเราด้วยประสบการณ์ของเขามากกว่าการสั่งให้ทำอะไรบางอย่าง เราสามารถจะคุยกันได้ว่าผมคิดกับงานแบบนี้แล้วเขาจะบอกว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น ซึ่งมันโอเคครับ เพราะมันมีการสื่อสารกันด้วยเหตุและผล  
 
ในการเรียนมหาวิทยาลัยบางทีอาจารย์มักจะสั่งมาเป็นบรีฟ ซึ่งสำหรับผมมันเหมือนผลักให้จมน้ำแล้วตะเกียกตะกายขึ้นมาเอง มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าเป็นคนเก่งเขาก็จะหาทางไปได้ แต่ถ้าเขาไม่เก่งเขาก็จะจมลงไปไม่มีใครช่วยเขาได้นอกจากเพื่อนเขาเอง แต่อยู่ที่นี่พี่ธีจะคอยแนะนำว่าเราควรต้องทำแบบไหนให้เรารอด ซึ่งมันดีมาก ๆ 
 
สิ่งที่ผมได้มีทั้งภาษา การเขียน design process และ design thinking การได้เข้ามาอยู่ในการทำงานจริง ได้เรียนรู้โพรเซสมันได้ความรู้ชัดเจนมากกว่าตอนเรียนที่เราแค่ถูกโยนโจทย์มาให้ แต่ห้องเรียนนี้มันเป็นห้องเรียนที่เล็ก เรามีกันอยู่ 4 คน แต่ห้องเรียนที่ผมเรียนมีตั้ง 50 คน กว่าอาจารย์จะเวียนคุยครบทุกคนก็หมดเวลาแล้ว อีกอย่างมหาวิทยาลัยผมไม่มีชาวต่างชาติ การได้มาฝึกงานที่นี่ทำให้ผมเรียนรู้ถึงความแตกต่างและวัฒนธรรมของเขาด้วย เราแชร์วิธีการทำงานกันและนำวิธีของกันและกันไปใช้ได้ในอนาคตแน่นอน

Rico นักศึกษาจาก Hong Kong Polytechnic University (Communication Design)

ผมมีรุ่นพี่ที่ฮ่องกงเขาเคยมาฝึกงานที่นี่แล้วแนะนำสตูดิโอนี้ให้ผม และผมคุ้นเคยกับประเทศไทยอยู่แล้ว เพราะเคยใช้ชีวิตช่วงมัธยมอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้เลยทำให้พอจะรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและภาษาอยู่แล้ว แต่ผมค่อนข้างตื่นเต้นที่จะได้รู้จักคนใหม่ ๆ และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 
 
เพื่อนมหาวิทยาลัยของผมส่วนใหญ่ฝึกงานในประเทศ โดยจะเน้นไปที่งานเชิงเทคนิคและงานเชิงพาณิชย์มากกว่า แต่สำหรับวิธีการทำงานที่นี่มันทำให้ผมได้ฝึกเชิง creative thinking มากกว่า นอกจากที่จะมี lecture ระหว่างทำงานแล้วเรายังได้ออกไปนอกสถานที่ด้วยกันเพื่อเรียนรู้สิ่งรอบตัวที่เกี่ยวเนื่องกับดีไซน์ด้วย 
 
พี่ธีมีความสนใจเรื่องศิลปะและมองว่าดีไซน์กับศิลปะสามารถไปร่วมกันได้ในระหว่างที่ทุกคนคิดว่าศิลปะกับงานออกแบบเป็นคนละเรื่องกัน มันทำให้วิธีการคิดและการทำงานของที่นี่แตกต่างจากที่อื่น
 

รู้สึกยังไงกับความแตกต่างและหลากหลายที่เกิดขึ้นภายในออฟฟิศบ้าง

ถ้าเปรียบเทียบกันฮ่องกงเป็นประเทศที่วุ่นวายและเครียดมาก ๆ แต่กรุงเทพฯ ชิวมาก ๆ แถมคนที่นี่ยังมีความเปิดกว้างและรับฟังมากกว่าด้วย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน ๆ ที่นี่จะมีทั้งการแนะนำและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยเหตุและผล ทำให้เรารู้สึกกล้าที่จะเปิดใจถึงแม้ว่าจะคิดเห็นต่างกัน
 
การได้คุยกันอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาทำให้ผมได้มีมุมมองที่หลากหลายและกว้างมากยิ่งขึ้น อย่างเรื่อง LGBTQ+ หรือความเชื่อด้านศาสนาต่าง ๆ ยังคงเป็นเรื่องที่คนฮ่องกงไม่ค่อยคุยกันมากนัก แต่ที่นี่เราสามารถคุยกันได้และคิดเห็นต่างกันได้

Yoo Rim นักศึกษาจาก Hongik University, Fine Arts Painting/Visual Communication Design
 

รู้จักที่นี่ได้ยังไง

อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแนะนำให้รู้จักกับ TNOP Mentorship ว่าเปิดรับสมัครนักศึกษาฝึกงานอยู่ พอได้เข้าไปดูใน Instagram ของ TNOP DESIGN เลยได้เจอกับโปสเตอร์ The Dead Godfather Shrine ที่เคยถ่ายรูปเก็บเอาไว้จากงาน Typojachi 2021 ซึ่งเป็นโปสเตอร์ที่ฉันชอบมาก ๆ ฉันว่า  TNOP DESIGN มีวิธีการนำเสนอกราฟิกดีไซน์ที่แปลกใหม่และแตกต่างจากสิ่งที่ฉันเคยได้เห็นในที่ไหน ๆ ฉันเลยอยากที่จะเรียนรู้วิธีการและเข้าใจมัน 
 
The Dead Godfather Shrine’ คือโปสเตอร์ที่ฉันเห็น พูดถึงสังคมไทยและระบบทุนนิยมด้วยการใช้องค์ประกอบการออกแบบกราฟิกเพื่อนำเสนอวัฒนธรรมไทยที่มีความเฉพาะตัว ถึงแม้ฉันไม่มีพื้นฐานความรู้เรื่องสังคมไทย แต่ฉันก็พอที่จะเข้าใจสิ่งที่จะสื่อสารได้ นอกจากนี้แล้วฉันยังสนใจเรื่องวิธีการใช้สีในงานดีไซน์ของพี่ธี อย่างงาน Lukkit Rice การใช้สีที่ไม่ได้ถึงกับจัดจ้านแต่ก็ไม่ได้จืดจาง เป็นการใช้สีที่ฉันรู้สึกว่ามันพิเศษมาก ๆ อย่างคนเกาหลีเราจะมีสีเฉพาะที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นประเพณีเกาหลีที่ทุกคนจะรู้กันว่าถ้าใช้แล้วเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเกาหลี 

รู้สึกยังไงกับการได้ทำงานกับคนที่มาจากต่างที่ ต่างความคิด

พี่ธีเคยบอกเอาไว้ว่าเขาไม่ได้ต้องการเลือกเด็กที่เก่งที่สุด แต่เป็นการหากลุ่มที่สามารถทำงานเป็นทีมร่วมกันได้มากกว่า เราสี่คนมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน แต่เรายังสามารถที่จะเข้ากันและสนุกด้วยกันได้ เรายังมีมุกตลกที่มีแค่พวกเราที่เข้าใจด้วย ฉันมักจะเรียกชื่อจริง นามสกุลเต็มเวลาที่เรียกบอส แล้วบอสจะเรียกฉันกลับมาด้วยชื่อจริงและนามสกุลเช่นกัน มันตลกสำหรับเราทั้งคู่เพราะคนไทยมีชื่อที่ยาวมาก ๆ ในระหว่างที่คนเกาหลีจะเป็นคำสั้น ๆ ทั้งหมด สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้ทำให้เราสนิทเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน
 

เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา

วันก่อนฉันเพิ่งค้นพบระหว่างการวาดรูปสเกตช์เล่นว่าสไตล์ของฉันเปลี่ยนไปมากจากช่วงแรก มันคงเป็นเพราะการได้เปลี่ยนสภาพแวดล้อมมาอยู่กรุงเทพฯ ทำให้ทุกอย่างข้างในตัวฉันเปลี่ยนไป
 
ฉันเคยคิดว่าตัวเองเป็นคนที่มีสายตาแหลมคมเพราะมักจะสนใจรายละเอียดของทุกเรื่อง แต่การได้มาอยู่ที่นี่ทำให้ฉันเปิดตาไปได้กว้างขึ้นไปอีก นอกจากการได้เห็นอะไรที่กว้างขึ้นแล้วฉันยังได้เปิดกว้างทางมุมมองความคิดผ่านเพื่อนร่วมงานด้วย อย่างเรื่อง LGBTQ+ ก็เป็นที่ยอมรับในสังคมทั่วที่ไทยมากกว่าที่เกาหลี ที่ไทยเขาสามารถเดินจับมือกันเดินไปไหนมาไหนโดยไม่มีใครสนใจได้ 
 
อีกเรื่องคือเรื่องของกัญชาเสรียังเป็นสิ่งที่ใหม่มากสำหรับฉัน ในตอนแรกฉันกลัวว่าการที่ฉันคิดแตกต่างและไม่เห็นด้วยกับการใช้กัญชาจะเป็นการไม่ให้เกียรติทุกคน แต่ไม่เลย ทุกคนไม่ได้ว่าอะไรฉันเลย แล้วก็ไม่ได้มองว่าการที่ฉันคิดไม่เหมือนเขาเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง สำหรับฉันความแตกต่างและหลากหลายทางวัฒนธรรมไม่ใช่ปัญหาเลย เราแค่ต้องเปิดใจยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง

EXPLORE MORE