หลิน-สกุลลักษณ์ ไล้สุวรรณชาติ - PASSION BRUNCH

จากมื้ออาหารเช้าในชีวิตประจำวันสู่การเป็นครูสอนทำขนมปังเปลือกแข็งและเจ้าของหนังสือ ‘Nature of Sourdough ธรรมชาติ ธรรมดาของซาวร์โด’ คนธรรมดาคนหนึ่งที่มีแพสชันกับขนมปังซาวร์โด คุณหลิน สกุลลักษณ์ ไล้สุวรรณชาติ 

เราเป็นครูสอนทำขนมปัง ถ้าถามว่าเรามาเป็นครูได้ยังไงคงต้องเล่าย้อนไปเมื่อ 7-8 ปีที่แล้วที่เริ่มขายขนมปังโฮลวีต 100% และซาวร์โด ตอนนั้นถือว่ายังเป็นขนมปังที่ไม่ได้เป็นที่นิยมโดยทั่วไปมากนัก ลูกค้าหลายคนที่ได้ลองและติดใจ อยากให้เราเปิดคลาสสอน แต่ในตอนนั้นเรายังไม่พร้อมเท่าไหร่ จนกระทั่งออร์เดอร์ขนมปังมันเริ่มเยอะขึ้น ครั้งนั้นออร์เดอร์ซาวร์โด 24 ก้อนเข้ามาภายในวันเดียวแล้วทำกันไม่ทัน เพราะเราทำกับแฟนแค่สองคนมันไม่สามารถรับออร์เดอร์ได้มากเท่ากับปริมาณคนสั่งได้ เราเลยกลับมานั่งคิดว่าเราจะทำยังไงกันต่อดี 
 
ตัวเราเองเป็นคนที่ไม่ได้อยากทำกิจการใหญ่โต ไม่อยากมีลูกน้องหรือพนักงานที่จะต้องมาบริหารจัดการ ไม่ได้ต้องการที่จะทำขนมปังออกมาเยอะ ๆ เพื่อให้ตัวเองโด่งดัง หรือสร้างรายได้อะไรมากมาย เราชอบชีวิตที่อิสระมากกว่าจึงเลือกที่จะทำอะไรที่ทำกันเองได้สองคน พอคิดได้แบบนี้เราเลยตัดสินใจที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านขนมปังเปลือกแข็ง เพื่อให้คนได้มาเรียนและสามารถกลับไปทำกินเองหรือทำขายได้ด้วย ถือเป็นการส่งต่อขนมปังในอีกรูปแบบนึง

ตัดสินใจที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านขนมปังเปลือกแข็ง เพื่อให้คนได้มาเรียนและสามารถกลับไปทำกินเองหรือทำขายได้ ถือเป็นการส่งต่อขนมปังในอีกรูปแบบนึง

Image © Nature of Sourdough by Lynn Loaf

จุดเริ่มต้นของความชอบในขนมปัง

ความชอบในขนมปังมันเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ในช่วงที่ธุรกิจเดิมที่เราทำมันเริ่มเงียบไป เราเริ่มที่จะมีเวลาว่างและคิดว่าไหน ๆ ก็ชอบทานขนมปังเป็นอาหารเช้าทุกวันอยู่แล้ว ทำไมไม่ลองหัดทำเองดู เริ่มได้ทำขนมปังก้อนแรกเราก็รู้สึกชอบเลย ลองผิดลองถูก ทำมันไปเรื่อย ๆ จนได้ไปเจอกับวิธีการทำขนมปังโฮลวีต ทดลองจนได้ไปเจอสูตรที่ใช่และรู้สึกว่ามันดีต่อสุขภาพเลยเริ่มทำออกมาขาย 
 

เริ่มค้นหาข้อมูลและเรียนรู้ยังไง

เหมือนคนทั่วไปเลย เริ่มต้นจากการดู YouTube และหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตบ้าง พร้อม ๆ ไปกับการทดลองทำออกมาที่ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เวลาที่เราได้ทำอะไรกินเองมันจะมีความรู้สึกอร่อยอยู่แล้ว นึกออกไหม (หัวเราะ) พอทำไปได้สักพักนึง เราเริ่มรู้สึกชอบมันจริง ๆ และอยากที่จะเข้าใจการทำขนมปังให้ลึกมากยิ่งขึ้น เริ่มซื้อหนังสือเกี่ยวกับการทำขนมปังมาศึกษาดู ข้อมูลออนไลน์มันทำให้เราเห็นว่าแต่ละเว็บมีสูตรที่ต่างกันออกไป แต่เราอยากทำความเข้าใจในที่มาของสูตรนั้น ๆ ด้วย
 
เราไปเจอหนังสือสอนทำโฮลวีตเล่มนึง ถือว่าเป็นหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตเราเหมือนกันนะ มันทำให้เรารู้จักการทำขนมปังโฮลวีต 100% จาก 'Peter Reinhart's Whole Grain Breads: New Techniques, Extraordinary Flavor by Peter Reinhart' เราฝึกทำและให้เพื่อนที่รู้จักได้ลองชิม เพื่อนก็บอกว่าอร่อย ชอบ แต่ตอนนั้นก็คิดนะว่าเพื่อน ๆ ก็ต้องชมกันอยู่แล้วแหละ หลังจากนั้นเราก็ขายขนมปังโฮลวีตเป็นงานอดิเรกอยู่หลายเดือน จนกระทั่งได้เจอกับกลุ่มลูกค้าที่สนใจในเรื่องเดียวกัน มันทำให้เราเริ่มชอบในงานอดิเรกนี้และอยากจะจริงจังกับมันให้มากขึ้นอีก เราเห็นแล้วว่ามันยังเป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครทำและมองเห็นแนวโน้มของตลาดว่ามันมีกลุ่มลูกค้าของขนมปังประเภทนี้อยู่ ตอนนั้นความรู้เรื่องขนมปังในไทยมันยังน้อยมาก ถ้าอยากจะรู้ข้อมูลอะไรต้องดูจากต่างประเทศอย่างเดียว ตอนนั้นในไทยมันมีที่เปิดสอนทำขนมปังอยู่แค่สองที่ เราเลือกเรียนที่ Le Cordon Bleu เพราะเราชอบขนมปังสไตล์ฝรั่ง อีกที่นึงจะไม่ได้เน้นสอนขนมปังเปลือกแข็งเท่าไหร่

มีเรื่องราวอะไรที่อยากเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการเป็นครูสอนทำขนมปัง

เราว่าบางคนเป็นเบเกอร์ที่ดีแล้ว อาจจะไม่ได้แปลว่าจะเป็นครูที่ดีได้ สำหรับเราที่ต้องเป็นทั้งสองอย่าง การเป็นครูมันก็สำคัญมากเหมือนกัน นักเรียนส่วนใหญ่ที่เป็นมือใหม่ เขาไม่สามารถจะตรวจสุขภาพขนมปังของเขาได้เอง เขามองไม่ออกหรอกว่ามันผิดที่ตรงไหน เหมือนเวลาที่เราฝึกโยคะ ถ้าไม่มีคนมาช่วยจัดท่าเราจะไม่รู้เลยว่าท่าที่เราทำมันผิดยังไง เราเลยเป็นเหมือนหมอตรวจสุขภาพขนมปัง ที่แม้ว่าคลาสอาจจะจบไปแล้วแต่งานของเรายังไม่จบ เรายังต้องคอยเป็นเหมือนเซอร์วิสให้นักเรียนต่อเพื่อให้เขาทำมันออกมาจนสำเร็จ
 
มันเป็นเหมือนหน้าที่ที่เราต้องทำ บางวันยืนสอนทั้งวันเสร็จแล้วเหนื่อยมาก ๆ พอเปิดโทรศัพท์มาเจอไลน์นักเรียนทักเข้ามา ถ้าเกิดเราไม่เหนื่อยมากจนเกินไป เราจะพักหายใจแป๊ปนึงแล้วจะตอบกลับไป แต่ถ้าเหนื่อยมาก ๆ อาจจะตอบช้าหน่อย แต่เราเต็มใจที่จะตอบเพราะคำถามต่าง ๆ เป็นเหมือนแบบทดสอบให้เราได้ฝึกตัวเองเหมือนกัน นักเรียนบางคนมาด้วยคำถามที่ไปต่อได้ง่าย บางคนอาจจะยังพึ่งพาครูมากจนเกินไป ซึ่งมันทำให้เราได้ฝึกความอดทนในการเป็นครูที่ต้องพยายามเข้าใจนักเรียนอยู่เสมอ
 
การที่เราเป็นครูสอนทำขนมปัง เราอยากสื่อสารให้คนเข้าใจและสามารถนำขั้นตอนไปปรับใช้เองได้ ขนมปังเป็นสิ่งที่ทำยาก เพราะมันมีตัวแปรที่สามารถผันเปลี่ยนไปมาตามข้อจำกัดต่าง ๆ ในขั้นตอนเยอะมาก ๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น อุปกรณ์ หรือแม้แต่อารมณ์ของคนทำ ทุกอย่างมีผลต่อขนมปังทั้งหมด เราพยายามจะสอนถึงวิธีการทำให้เข้าใจที่มาที่ไป บางคนที่ทำขนมปังอาจจะยังมีความเข้าใจเรื่องสูตรขนมปังว่าจะต้องทำตามสูตรแบบนั้นแบบนี้ ทำตามตัวเลขบอกไว้อย่างเฉพาะเจาะจง หรืออยากได้ฮาวทูอะไรง่าย ๆ ที่สามารถทำตามได้เป๊ะ ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้าเอาเวลาที่ตายตัวของสูตรที่ทำในคลาสไปทำที่บ้านมันก็อาจจะออกมาไม่เหมือนกันแล้ว เพราะอุณหภูมิที่ห่างกันแค่ประมาณ 2 องศามันก็ให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันแล้ว
 
ปัจจุบันเราพยายามสอนให้ทุกคนเข้าใจเรื่องที่มาที่ไปในวิธีการทำขนมปังมากขึ้น ให้เข้าใจขั้นตอนและเหตุผลของขั้นตอนต่าง ๆ มากกว่าการบอกสูตรหรือขั้นตอนแบบเป๊ะ ๆ ซึ่งวิธีการสอนแบบนี้เองเป็นที่มาของหนังสือที่หลินกำลังขายอยู่ตอนนี้ด้วย หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า ‘ธรรมชาติ ธรรมดาของซาวร์โด’ เราพยายามทำให้คนเข้าใจเหตุปัจจัยธรรมชาติของมันว่าทำยังไงให้มันออกมาเป็นแบบนั้นแบบนี้ เพื่อเข้าใจปัญหาว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง

 ‘ธรรมชาติ ธรรมดาของซาวร์โด’ เราพยายามทำให้คนเข้าใจเหตุปัจจัยธรรมชาติของขนมปังเพื่อให้นักเรียนเข้าใจปัญหาว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง

Image © Nature of Sourdough by Lynn Loaf

ช่วยอธิบายความชอบที่มีต่อขนมปัง

เราเชื่อว่าเบเกอร์ทุกคนชอบจับโด ถ้าลองเคยทำขนมปังแล้วจับโดมันเป็นอะไรที่นุ่ม ๆ หยุ่น ๆ มันเป็นอะไรที่ควบคุมค่อนข้างยากและรูปทรงของมันเป็นไปตามธรรมชาติมาก ๆ มันไม่ใช่ว่าเราทำขนมปังได้วันนี้แล้วมันจะออกมาแบบนี้ทุก ๆ วัน ความท้าทายคือมันมีตัวแปรที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน 
 
สมัยที่หลินเพิ่งเริ่มเรียน เจอเชฟที่เขาก็สอนมาหลายปีมากแล้วแต่เขายังคงไปยืนเฝ้าหน้าเตาตอนอบทุกครั้ง เราถามเขาว่าเขาเฝ้าแบบนี้ตลอดเลยเหรอ เขาบอกเราว่า ใช่ ฉันก็ดูและลุ้นไปกับมันแบบนี้มาตลอด แม้เราจะจัดการกับโดของเราดีแค่ไหนตั้งแต่ต้นจนจบทุกขั้นตอน ทั้งการเลือกวัตถุดิบ การนวด การพัก การหมักขึ้นรูป สุดท้ายแล้วเราไม่ได้เป็นคนควบคุมความร้อนภายในเตาอบ มันเป็นหน้าที่ของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องทำหน้าที่ของมัน ในช่วงท้ายเลยอยู่ที่เตาอบ บางครั้งเราได้แต่ยืนดูแต่ทำอะไรไม่ได้แล้ว อย่างตอนที่เราสอนมีนักเรียนเขาพูดกันว่าโดของครูสวยสุด แต่ตอนอบมันก็อาจจะไม่สวยอย่างที่ตั้งใจก็ได้ มันทำให้เรารู้สึกสนุกและลุ้นไปกับผลลัพธ์ของมัน
Image © Nature of Sourdough by Lynn Loaf

ใช้เวลาสังเกตและใส่ใจไปกับสิ่งที่เราทำ เราจะได้ความรู้จากการสังเกตและเก่งขึ้นได้เอง 

ช่วงแรกที่เริ่มทำซาวร์โดเป็นอย่างไร

ช่วงที่เริ่มทำซาวร์โดทำเจ๊งเยอะมากจนต้องหยุดไปเลยสองเดือนเพื่อให้ลืมความรู้สึกเฟลนี้ไปก่อน ตอนนั้นทุกครั้งที่เกิดความผิดพลาดเราต้องคอยมานั่งสังเกตว่าเกิดขึ้นได้ยังไง ใช้ความรู้ที่ได้อ่านมาจากหนังสือมาบวกกับประสบการณ์ที่มี และก็นั่งสังเกตว่าโดของเรามันเป็นยังไง ทำแบบนี้ไปนานพอสมควร กว่าจะกล้ามาสอนคนอื่น ทุกวันนี้เห็นแค่รูปขนมปังก็พอที่จะรู้ได้เลยว่ามันผิดที่ตรงไหน เห็นได้ชัดเลยว่าเวลาที่เราได้ใช้เวลาสังเกตและใส่ใจไปกับสิ่งที่เราทำ เราจะได้ความรู้จากการสังเกตและเก่งขึ้นได้เอง 
 
เราเป็นคนที่ปฏิบัติธรรมเป็นประจำอยู่แล้ว การปฏิบัติมันบังคับให้เราต้องอยู่กับตัวเองให้ได้ ถ้าเราเริ่มทนตัวเองให้ผ่านได้ 10 วิแรกไปได้ร่างกายมันจะเริ่มชินและทนได้นานมากยิ่งขึ้น จากนั้นเราจะข้ามสเต็ปต่อไปจนทนได้ 20 วิ 30 วิ เกิดการทำซ้ำไปเรื่อย ๆ เหมือนกับความรู้ที่เราได้จากซาวร์โด เชื่อไหมว่าการฝึกทำซาวร์โดของเราคือฝึกจากขนมปังสูตรเดียวเลยนะ
 
‘Sourdough Country Bread’ สูตรนี้ และยังคงทำซ้ำมาจนถึงทุกวันนี้ มันเหมือนเราฝึกอยู่สูตรเดียวก็จริง แต่ความจริงแล้วเราฝึกขั้นตอนที่อยู่ในสูตรนั้นมากกว่า การทำซ้ำมันทำให้เรารู้ลึกเข้าไปมากขึ้น เราเชื่อว่าการย่ำอยู่ที่เดียวมันทำให้เราได้ความรู้ในสิ่งที่ลึกลงไปเหมือนเวลาที่เราปฏิบัติธรรม เราใช้วิธีเจริญสติวิธีเดียว แต่วิธีนั้นจะทำให้เราลงลึกเข้าไปเรื่อย ๆ และผลลัพธ์จะออกมาดีขึ้นเรื่อย ๆ จริง ๆ
Image © Nature of Sourdough by Lynn Loaf

มีบทเรียนอะไรบ้างจากการสังเกต

อย่างที่เราบอกไปว่าแค่ 2-3 องศาก็สามารถเปลี่ยนทุกอย่างได้แล้ว เราอยากจะเล่าถึงครูที่เคยได้เรียนด้วย เขาเป็นคนอิตาลีซึ่งโดยปกติแล้วอุณหภูมิในการทำงานในประเทศของเขาเย็นกว่า แต่พอเขามาสอนที่โซนเอเชียมันต่างกันโดยสิ้นเชิง ภูมิอากาศกลายเป็นตัวแปรที่สำคัญและยาก เขาเองก็ไม่เคยรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เขาบอกกับหลินว่าเขากลายเป็นคนไม่รู้เรื่องอะไรเลยอีกครั้ง เขาเคยเล่าให้ฟังว่าทุกครั้งที่เขาเดินทางไปต่างประเทศเพื่อที่จะสอน Panettone แต่ละครั้งเขาจะเจอกับครัว แป้ง อุปกรณ์ และเตาอบที่แตกต่างกัน แต่เท่าที่รู้คือเขาก็สามารถจัดการทุกอย่างได้โดยไม่เคยอบถึงขั้นพังเลยแม้แต่ครั้งเดียว
 
ตอนนั้นที่เห็นเขาสอนก็ไม่รู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่อะไรมากนะ เพราะเราก็ยังไม่มีความรู้มากนัก แต่มีอยู่วันนึงเมื่อไม่นานมานี้ที่ Facebook Memories มันเด้งขึ้นมาเป็นภาพที่เราถ่ายโต๊ะที่เต็มไปด้วย Panettone ที่เขาทำคนเดียว โดยไม่มีผู้ช่วยเชฟ มีแค่คนที่คอยหยิบจับอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้เราคิดขึ้นมาได้ว่า ‘โห มาสอนคนเดียว ไม่มีผู้ช่วย แล้วทำได้ขนาดนี้ ลุยคนเดียวกับสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย จับเครื่องมือครั้งแรกยังทำได้ขนาดนี้’ โดยทั่วไปแล้วเราคิดว่ามันมีวิธีการตอบโต้ปัญหาแบบนี้อยู่สองแบบ คือ 1 ต่อต้าน 2 อ่อนน้อมถ่อมตัว ถ้าเราเลือกที่จะอ่อนน้อมและเรียนรู้มัน เราจะเข้าใจความธรรมดาและธรรมชาติของสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าทุกอย่างสามารถผันเปลี่ยนไปตามตัวแปรและโจทย์ได้ เราจะมองปัญหาอย่างเข้าใจและสามารถที่จะแก้ไขให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์ได้เสมอ สำหรับหลินเขาเป็นคนที่มีความรู้แบบละเอียดมากและมีไหวพริบในการแก้ปัญหาที่ดี 

เราคิดว่ามันมีวิธีการตอบโต้ปัญหาแบบนี้อยู่สองแบบ คือ 1 ต่อต้าน 2 อ่อนน้อมถ่อมตัว ถ้าเราเลือกที่จะอ่อนน้อมและเรียนรู้มัน เราจะเข้าใจความธรรมดาและธรรมชาติของสิ่งที่เกิดขึ้น มองปัญหาอย่างเข้าใจและสามารถที่จะแก้ไขให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์ได้เสมอ

Image © Lynn Loaf

แสดงว่าถ้าเราอ่านสูตรขนมปังต่างประเทศอาจจะไม่สามารถทำในประเทศไทยได้

ใช่ เราเคยได้เจออีบุ๊กเล่มนึงที่เขียนโดยชาวต่างชาติ เรานึกออกเลยว่าถ้าทำตามวิธีนี้ต้องพังแน่ ๆ เพราะว่าอุณหภูมิในประเทศเขามันต่ำกว่าเรามาก และถ้ามาทำในประเทศที่ร้อนแบบเรามันไม่มีทางทำสำเร็จได้เลย 
 
มีข้อสังเกตนึงที่เราคิดได้ ว่าคนไทยทำขนมปังในไทยถ้าได้เรียนรู้กับครูคนไทยหรือในโซนประเทศใกล้เคียงกัน มันจะง่ายกว่าและปรับใช้ให้เข้ากับอุณหภูมิในประเทศ  หลินเลยตั้งใจที่จะเขียนหนังสือเป็นภาษาไทยทั้งหมด เพราะมันยังไม่มีหนังสือซาวร์โดที่เป็นภาษาไทยเลย ถ้าคนไทยไปอ่านหนังสือภาษาอังกฤษแล้วภาษาไม่แข็งแรงอาจจะเกิดความเข้าใจที่ยากกับการทำ เรารู้สึกว่าความรู้ภาษาอังกฤษมันมีเยอะมากแล้ว เราทำภาษาไทยให้คนไทยอ่านดีกว่า อีกอย่างนึงคือเราไม่ได้ต้องการที่จะรวยจากการขายหนังสือเล่มนี้ แต่เราแค่อยากส่งต่อความรู้ที่เรามีออกไปแก่ผู้อื่น
Image © Nature of Sourdough by Lynn Loaf

มีความคิดเห็นกับวงการขนมปังอย่างไร

เราคิดว่ามันเหมือนกันทุกวงการ เวลาที่คนให้ความสนใจกับบางอย่างเป็นวงกว้าง จะมีคนแห่กันมาทำมากมายหลายกลุ่ม หลากหลายชุดความรู้ มีทั้งชุดความรู้ที่บางทีเราฟังแล้วงง ฟังแล้วเกิดความคิดว่าจริงเหรอ หรือการที่ครูคนนั้นคนนี้โต้แย้งกันในประเด็นต่าง ๆ เราว่ามันเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นวงการไหนก็ตาม 
 
ในช่วงของ 6-7 ปีที่แล้ว ต้องยอมรับว่าในยุคนั้นคนยังให้ความสนใจขนมปังเปลือกแข็งน้อยมาก ๆ เทียบกับตอนนี้ ที่ขนมปังเปลือกแข็งเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในประเทศไทย แต่ส่วนตัวเรามองว่านี่มันยังไม่ถึงจุดที่สูงที่สุดนะของตลาดของขนมปังซาวร์โด ขนมปังเปลือกแข็ง และขนมปังเพื่อสุขภาพ เพราะเราเชื่อว่าทุกวันนี้ยังมีคนที่ไม่รู้จักซาวร์โดอยู่เลย แสดงว่ามันยังไม่ถึงจุดอิ่มตัวของมัน ถ้าเรามองเรื่องนี้ด้วยความปกติเราจะเห็นว่าในแต่ละธุรกิจมันจะมีจุดเริ่มต้น จุดกำลังขึ้นและจุดสูงสุด เป็นวงจรแบบนี้วนไป เรามองว่าตลาดในตอนนี้มันเป็นจุดที่เลยจุดเริ่มต้นมาเป็นจุดที่สอง จุดที่คนเริ่มสนใจมากขึ้น 
 
ถ้าให้เปรียบเทียบกับอาหาร มันเหมือนกับอาหารญี่ปุ่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ที่มีซูชิตลาดนัดราคา 5 บาท เปรียบเทียบกับสมัยก่อนตอนเรายังเด็กคนไทยยังกินปลาดิบไม่เป็นและเป็นอาหารที่ราคาสูง เรามองว่าถ้ามันเป็นของที่ดีแล้วคนชอบมันมากพอมันจะไปถึงจุดนั้นได้เหมือนกัน เช่นเดียวกันกับตลาดกาแฟที่มันจะมีกาแฟแบบสเปเชียลทีกับกาแฟรถเข็น สุดท้ายเราเชื่อว่าขนมปังมันจะไปถึงจุดนั้นได้เหมือนกัน

บางทีความรู้ที่เราได้มันก็มาพร้อมกับโจทย์ของตัวลูกศิษย์ ปัญหาแบบที่เราไม่เคยคิดหรือเจอมาก่อน กลายเป็นความรู้ใหม่ที่เราจะค้นหาไปพร้อมกับลูกศิษย์

เรื่องราวที่คนไม่รู้จักเกี่ยวกับตัวคุณแล้วอยากเล่าให้ฟัง

ถ้าเราเจอใครเข้ามาถามเกี่ยวกับขนมปัง จะเป็นคนที่ได้เรียนหรือไม่ได้เรียนกับเรา เราก็จะตอบทุกคน คนอาจจะคิดว่าเรารู้ทุกอย่าง แต่บางทีความรู้มันก็มาพร้อมกับโจทย์ของตัวลูกศิษย์เหมือนกันนะ คำถามหรือปัญหาแบบที่เราไม่เคยคิดหรือเจอมาก่อน มันทำให้เราฉุกคิดบางอย่างได้ว่ามันเป็นความรู้ใหม่ที่เราจะค้นหาไปพร้อมกับลูกศิษย์ เพราะเราต้องเจอปัญหาเป็นร้อยแบบที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งบางครั้งเรื่องมันอาจจะไม่เคยเกิดขึ้นกับเราเลย แต่กลับเกิดขึ้นกับคนอื่น นำพาความรู้ใหม่ ๆ มาให้เราเช่นกัน

บุคคลที่ประทับใจอยากแนะนำให้รู้จัก

อยากแนะนำให้รู้จักเชฟอัลเบอร์โตที่เป็นทั้งครูและเพื่อนคนที่สอนเราทำ Panettone เรารู้จักกันมานานหลายปีและยังติดต่อกันมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ เขายังมอบความรู้ใหม่และสอนเราอยู่ตลอดเวลา
 
ก่อนที่เราจะเปิดคอร์สสอนทำ Panettone เราก็บอกเขาด้วยนะว่าเราจะเปิดสอน เขาบอกเราว่า ‘ถ้าเธอจะไปสอนเธอต้องสอนให้มันดีนะ’ เขาพยายามที่จะให้ความรู้เราเพิ่มเติมอีกเยอะมากถ้าเป็นครูบางคนอาจจะไม่ได้ชอบใจที่มีนักเรียนมาเรียนเพื่อไปสอนต่อ แต่สำหรับอัลเบอร์โตเขาไม่ได้คิดแบบนั้นเลย
Image © Nature of Sourdough by Lynn Loaf

คำแนะนำสำหรับคนตามหาแพสชันของตัวเอง

ทำใจให้สบาย พยายามอย่าจมเข้าไปในความคิด ถ้าคิดไม่ออกให้ออกไปเที่ยว พักผ่อน ปล่อยใจสบาย ๆ ส่วนตัวสิ่งที่เราชอบทำคือกลับไปคิดถึงวัยเด็กที่เราชอบที่สุด ทำอะไรแล้วมีความสุขในตอนนั้น ถ้าให้มานั่งคิดในสมองว่าจะหาแพสชันให้เจอเราว่ามันไม่มีทางหาเจอหรอก สิ่งเหล่านั้นมันจะมาในจังหวะที่เหมาะสมเอง ถ้าข้างในเรามันยังอึดอัด ขัดข้องใจ มีความกังวลอยู่ เราไม่มีทางค้นพบมันได้เลย เราต้องใช้ชีวิตด้วยใจที่สบาย ๆ 

Secret Facts

ในตอนที่เราขายขนมปังเราก็หวงสูตรของเรานะ แต่พอเปลี่ยนสถานะมาเป็นครูแล้วเราให้ความรู้ทุกอย่างออกไปเราคิดไว้อยู่แล้วว่าจะมีเหตุการณ์ที่มีคนมาเรียนแล้วเอาไปสอนต่อ แต่ถ้าเรายอมรับในจุดนี้ไม่ได้เราจะไม่เป็นครูตั้งแต่แรกเลย ถ้าเรายังคิดไม่ขาดและมัวแต่หวงวิชา เราก็ไม่ควรเป็นครู
 

สิ่งที่ทำในชีวิตประจำวันที่อยากจะแชร์

การได้ปฏิบัติธรรมมันทำให้รู้สึกว่าการทำสิ่งที่ไม่อยากทำแต่ต้องทำมันให้ได้ การที่เราต้องฝืนและพยายามอดทนกับตัวเอง กลายเป็นความรู้สึกที่ดีมาก ๆ ขนาดสิ่งที่เราไม่อยากทำเรายังทำไปได้ตั้งสองชั่วโมงได้เลย พอถึงเวลาที่เราได้กลับมาทำงานที่เราชอบ เวลามันจะผ่านไปไวมากแม้งานจะเยอะมากก็ตาม เราทำมันได้เหมือนกับขึ้นทางด่วนเลย การปฏิบัติธรรมทุกเช้าและเย็นทำให้เราทำงานได้ดีและมีความสุขมากยิ่งขึ้น

เหตุการณ์ที่สร้างบทเรียนที่ดีให้กับคุณหลิน

บางทีเราก็รู้สึกว่าเรายังตอบสนองนักเรียนในคลาสได้ไม่ดีพอ เราจะกลับมานั่งดูตัวเองว่าต้องพูดยังไงให้เกิดความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งเราเป็นครู เราเจอคนเยอะและเจอนักเรียนที่ยากหรือคำถามที่บางครั้งสื่อสารกันไม่เข้าใจ เราก็ต้องกลับมาฝึกตัวเอง ต้องพยายามทำความเข้าใจให้ได้ ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ฝึกไปเรื่อย ๆ อยู่

ดีใจที่สุดในชีวิตตอนไหน

เราว่าการดีใจที่สุดมันอาจจะไม่มี เพราะมันไม่มีดีที่สุด มีแค่ดีที่สุดในเวลาหรือโมเมนต์นั้น ๆ เดี๋ยวมันก็มีเรื่องดีอื่น ๆ เข้ามาอีก เท่ากับว่ามันไม่มีเรื่องที่ดีที่สุด มันเป็นการดีใจเรื่อย ๆ ซ้ำ ๆ มากกว่า
 

สถานที่ไหนที่ชอบที่สุด

ชอบที่ที่ว่าง ๆ ธรรมชาติ เงียบ ๆ ไม่พลุกพล่าน
 

สีที่ชอบ

สีเขียว เพราะมองแล้วสบายตา

EXPLORE MORE