สอง-ศาศวัต เลิศฤทธิ์ - PASSION BRUNCH

เราชื่อสอง-ศาศวัต เลิศฤทธิ์ ขอเรียกตัวเองว่าเป็น Film Director อิสระ ถึงแม้ผลงานกำกับด้านมิวสิกวิดีโอของเราค่อนข้างโดดเด่นก็จริง แต่เรามองตัวเองเป็น Film Maker (คนทำภาพยนตร์) คนหนึ่งที่ก็ยังอยากทำภาพยนตร์ หนังสั้น และมีเดียในรูปแบบอื่น ๆ อีกเหมือนกัน อนาคตงานของเราน่าจะพัฒนาไปในศิลปะแขนงอื่น ๆ อีกได้ เพราะนอกเหนือจากงานกำกับ ในปี 2022 ก็เป็นปีแรกที่ได้เริ่มทำงานเพลงของตัวเองด้วย
Vital Maxim Key Visual - Image © Song Sasawat

จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจการเป็น Film Maker 

เราสนใจในศิลปะมาตั้งแต่เด็ก พอเข้าช่วงมัธยมเราเริ่มเข้าใจศิลปะที่มีความครีเอทีฟมากขึ้น และเริ่มสนใจในส่วนของงานดีไซน์ด้วย ทำให้ตัดสินใจสอบเข้าเรียนนฤมิตศิลป์ สาขาเรขศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และค่อย ๆ พบตัวเองมากขึ้นในช่วงมหาลัย จากการสังเกตเห็นได้ว่าอิทธิพลของดนตรีและหนังเข้ามามีบทบาทเป็นแรงบันดาลใจหลัก ๆ ในการทำงานของเราเยอะมาก
 
ทุกอย่างเริ่มชัดเจนว่าเราไม่ได้อินกราฟิกดีไซน์ที่เรียนอยู่เลยช่วงประมาณปีสาม ในระหว่างที่เพื่อนคนอื่นกำลังจะเรียนจบไปเป็นนักวาดภาพประกอบ/ดีไซเนอร์ ทุกคนดูจะค้นพบความชอบของตัวเองแล้ว เรากลายเป็นคนหนึ่งที่แตกต่างออกมาจากคนอื่นโดยสิ้นเชิง เวลามีโปรเจกต์ที่มีโจทย์เป็นกราฟิกมาก ๆ เราจะไม่มีความสุขที่จะทำมันเลย แต่กับโจทย์เชิง Conceptual ที่เป็นการตีความใหม่และใช้ความคิดเยอะ ๆ เราจะสนุกกับมันมาก เราเลยรู้ตัวว่าไม่อยากยึดโยงอยู่แค่กับงานด้านกราฟิกดีไซน์อย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว
 
หลังจากนั้นเราเริ่มหันมาจับกล้องวีดีโอแทนและมีโอกาสได้เข้าไปช่วยเพื่อนที่เรียนแฟชั่นทำแฟชั่นฟิล์มง่าย ๆ ซึ่งเราสนุกกับมันมาก เราไม่เคยรู้สึกเบื่อการทำงานวิดีโอเลย ยิ่งเวลาที่ได้ฟุตเทจมาเราจะตื่นเต้นมาก รีบกลับไปที่ห้องเพื่อตัดต่อและหาเพลงมาใส่ เรามีโอกาสได้ทำวิดีโออีกหลายตัวที่ใช้โปรโมตกิจกรรมต่าง ๆ ภายในรั้วจุฬาฯ ด้วย เช่นงานจุฬาฯ วิชาการ
 
ขณะเดียวกันวิชาที่ได้เรียนก่อนจบ เริ่มมีความครีเอทีฟมากขึ้นและหลุดออกจากความเป็นภาพกราฟิกสองมิติ ยิ่งทำให้ชัดเจนขึ้นอีกว่าเราไม่อยากเสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่ได้อินขนาดนั้นแล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะทิ้งโลกของกราฟิกไปนะ เพราะมันถือเป็นพื้นฐานและความรู้ที่แข็งแรงมาก อีกอย่างหนึ่งคือเราเชื่อว่าถ้าเราเป็น Film Maker ที่มีพื้นฐานความรู้บางอย่างที่ต่างออกไปจากคนที่เรียนจบฟิล์มมาโดยตรง เราจะมีข้อได้เปรียบและสามารถนำเสนอแนวทางที่แตกต่างออกไปให้แก่วงการได้ นั่นคือความตั้งใจจริงของเราเลยแหละ ถ้าถามว่าวันนี้มองย้อนกลับไปถึงความตั้งใจนั้นรู้สึกเลือกทางผิดไหม คิดว่าไม่นะ เพราะวันนี้มันพิสูจน์แล้วว่าเราทำมันได้จริง
Work Archive © Song Sasawat

เริ่มรู้ตัวตั้งแต่เมื่อไหร่ว่าอยากเป็น Film Maker

มันคงชัดมาตั้งแต่เด็กแล้ว เพียงแต่เราไม่ได้รู้ตัวและมองเห็นตัวเองเคลียร์มากเท่ากับตอนที่เรียนอยู่มหาลัย เราชอบดูการ์ตูนทีวีและโตมากับ Channel [V] และ MTV ตั้งแต่เด็ก ภาพเคลื่อนไหวใด ๆ ที่เล่าเรื่องได้มันเป็นความน่าสนใจของเรามาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว
 
หลายคนอาจจะไม่ชอบฟังเพลงระหว่างทำงาน แต่สำหรับเราถ้าไม่มีเพลง เราทำงานไม่ได้เลย หลายครั้งเราเปิดหนังไว้ระหว่างทำงานด้วยซ้ำ คนอื่นอาจจะโฟกัสอยู่กับหนังแล้วทำอย่างอื่นไม่ได้ แต่สำหรับเราถ้าไม่เปิดหนังไว้เราจะหลุดโฟกัสกับการทำงานมากกว่าเดิม ฟังดูอาจจะเหมือนเป็นคนสมาธิสั้นนะ แต่ความจริงแล้วเราสามารถโฟกัสสองสามอย่างภายในเวลาเดียวกันได้ อย่างที่ตั้งใจจริง ๆ

จุดเริ่มต้นของเส้นทาง Film Maker เกิดขึ้นได้ยังไง

หัวข้อทำธีสิสของเราคือเรื่อง Inner Child ปรัชญาเกี่ยวกับความเป็นเด็กในตัวที่หล่อหลอมเราให้เป็นตัวเราในแบบทุกวันนี้ ระหว่างการทำธีสิสนอกจากเล่มวิจัยแล้ว อาจารย์ก็จะให้เราทำ Creative deck อารมณ์คล้าย ๆ Pinterest ในฉบับหนังสือ ควบคู่ไปกับการธีสิสด้วย เพื่อรวบรวมทุกอย่างเกี่ยวกับธิสิสของตัวเอง 
 
ปรากฏ Creative deck ของเราเปิดไปกี่หน้ามันก็จะมีแต่การ์ตูน ภาพโฆษณาเก่า ๆ ตัวหนังสือจากสื่อในตอนเด็กที่ตัดแปะเป็นคอลลาจ เป็นภาพที่มาจากสิ่งที่เราเคยเสพอยู่ตรงหน้าทั้งหมด รวมถึงหนัง มิวสิกวิดีโอ หรือภาพวีเจในทีวีที่เคยดูอยู่ในวัยนั้น ความรู้สึกในตอนนั้นคือมันทำให้เราคลี่คลายตัวเองได้อย่างแตกฉานมากว่าดนตรีและหนังเป็นสิ่งที่จะสามารถเยียวยาและอินสไปร์เราไปได้ตลอดชีวิตแน่นอน ไม่ว่างานมันจะเป็นรูปแบบไหนก็แล้วแต่ มันจะยังคงเป็นพื้นฐานของงานเราเสมอ
 
สุดท้ายแล้ว ตัวโปรเจกต์ธีสิสของเราจึงถ่ายทอดเป็นการตีความ Inner Child ออกมาเป็นหลาย ๆ มีเดียทั้ง object & machine, installation art และ video ซึ่งการคิดงานเชิง Conceptual ในวันนั้นมันเริ่มหล่อหลอมเราให้เป็นคนที่คิดอะไรให้มีการพลิกแพลง - หักมุมทุกครั้งในการสร้างผลงานมาถึงวันนี้ คือเราจะพยายามมองสิ่งต่าง ๆ และทุก ๆ อย่างให้ไกลไปมากกว่าสิ่งที่มันเป็นอยู่เสมอ
 
พอเรียนจบเราตัดสินใจก้าวเข้ามาในสังเวียนของ Film Maker ทันที ทั้งที่ในช่วงนั้นล้วนมีแต่คนที่เรียนจบด้านนี้มาโดยตรง ในระหว่างที่เราเป็นนักออกแบบกราฟิกที่เข้ามาทำในวงการนี้แบบงง ๆ กล้าได้กล้าเสีย ไม่ได้รู้จักใครและไม่เคยอยู่ในสังคมหรือแวดวงภาพยนตร์มาก่อนด้วย เราเลยต้อง manifest (แสดง) บางอย่างออกมาจากตัวเองนิดหนึ่งว่าเราจะต้องโอเค เราจะต้องไม่เป็นไร ต้องสร้างความมั่นใจในตัวเองให้ได้ เพราะเราเชื่อว่าเราจะไม่ยอมแพ้และจะสามารถนำเสนอผลงานตัวเองได้ดีอย่างที่เราไม่ต้องทำตามแบบแผน
 
ในช่วงแรกจะเป็นงานมิวสิกวิดีโอบ้าง แฟชั่นฟิล์มบ้าง แต่ไม่ได้เป็นโปรเจกต์ใหญ่อะไร รายได้ตอนนั้นไม่เยอะมากนัก มันเป็นช่วงเวลาที่เราทำงานอย่างหนักเพื่อต่อสู้กับความพยายามที่จะมีที่ยืนในวงการนี้ให้ได้ ก่อนจะเกิดมรสุมชีวิตที่ทำให้เราตัดสินใจไปเรียนต่อที่นิวยอร์ก
 
ความจริงแล้วการเรียนต่อไม่ใช่เป้าหมายในชีวิตของเราเลย เราไม่ได้ชอบการเรียนในห้องเรียนและการต้องอยู่ในระบบแบบนั้น เพราะฉะนั้นการตัดสินใจไปเรียนนิวยอร์กมันเป็นแค่การที่เราอยากจะหนีออกจาก ‘ความไม่ไหวแล้ว’ ของสภาพจิตใจตัวเอง บวกกับการอยากที่จะไปปลดล๊อคตัวตนบางอย่าง ไปหาคำตอบของบางคำถามที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทำงานอยู่ที่ไทยในตอนนั้น

เมื่อก่อนเคยมีความคิดที่คอยเอาแต่โทษคนอื่นว่าทำไมเขาโชคดีกว่าเรา แต่สุดท้ายแล้วความคิดนั้นมันไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงโลกหรืออะไรได้อยู่แล้ว ฉะนั้นมันไม่มีเวลาที่จะมาคิดลบกับใครแล้ว เรากลายมาเป็นคนที่หยุดคิดร้ายกับทุกสิ่งและหยุดคิดร้ายกับตัวเองด้วย

คำถามที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคืออะไร 

‘ต้องเก่งแค่ไหนถึงจะพอวะ’ คำถามนี้มันเกิดขึ้นเพราะเราเติบโตมาพร้อมการได้รับคำชมมากมายตลอดเวลา แม้กระทั่งตอนนี้ก็มีแต่คำชมมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เรา appreciate (เห็นคุณค่า) มันนะ แต่บางทีมันเหมือนกลายเป็นแค่คำสร้อยท้ายประโยคไปแล้วสำหรับเรา ทุกครั้งที่ได้รับคำชมเราจะไม่เคยเหลิง รู้สึกว่าคำชมไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เรามีอีโก้ได้ เพราะทุกคนสามารถได้รับคำชมหมด แต่คำชมจะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าเราหยุดพัฒนา เราได้รับคำชมมาตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ ๆ การเริ่มด้วยตัวเองจากศูนย์ พร้อมกับคำชม คำเยินยอสรรเสริญมากมายว่า ‘เฮ้ย! คนนี้เก่ง น่าสนใจ น่าจับตามอง หาตัวจับยาก’ แต่เราในตอนนั้นกลับสงสัยกับตัวเองมาก ๆ ว่า แล้วทำไมเราถึงไม่เคยได้รับโอกาสที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ ตามมาจากคำชมเหล่านั้นเลยวะ นึกออกไหม เราได้รับคำชมแต่ไม่ได้มีใครหยิบยื่นโอกาสให้เหมือนคนอื่นจริง ๆ สักที
 
ตัวเรา ณ วันนั้นรู้สึกเลยว่า ‘ทำงานดีให้ตายก็ไม่มีใครมองเห็น’ ตราบใดที่ยังไม่มีสปอตไลต์ฉายมาที่ตัวเรา แล้วเมื่อก่อนเรายังไม่ได้เป็นลุคนี้ ภาพลักษณ์ของเรายังเป็นแค่เด็กผู้ชายธรรมดาไม่มีความน่าสนใจมากนัก เราไม่มั่นใจในการที่จะเปิดเผยตัวตน หรือ Come out ออกมาเป็นตัวเองได้เท่าทุกวันนี้ เพราะระบบความคิดที่ยังเด็กของตัวเองและสภาพสังคมในตอนนั้น 
 
อีกอย่างคือเราเคยเป็นคนไม่ชอบเข้าสังคมมาก ๆ ไม่ชอบการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดสนใจ อย่าง Instagram ในตอนนั้นเราถือเป็นพื้นที่ที่เราอยากจะสงวนไว้อัปเดตชีวิตให้กับเพื่อนและคนรอบตัวแค่นั้น เราเลยไม่ค่อยได้โพสต์อะไรที่หวือหวาหรือไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดใครให้มาติดตาม ถึงแม้เราคิดว่าเราจะมีไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจพอให้แชร์มันออกมาก็ตาม ซึ่งในเวลานั้นสำหรับเรามันคล้ายว่าจะเป็นปัจจัยหลักเลยที่ทำให้ใครสักคนได้โอกาสในการทำงาน ไม่ใช่แค่ความสามารถอย่างเดียว เลยมีความคิดว่าถ้าเราไม่พยายามโชว์ตัวตนของเราออกมาให้เท่าคนอื่น ๆ โอกาสและการถูกค้นพบก็จะไม่สามารถเข้ามาถึงเราสักที ทำงานออกมาดีอย่างเดียวคงไม่พอแล้วจริง ๆ แต่พอเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ทุกวันนี้เราก็ปรับมุมมองในเรื่องนี้และพยายามจะสร้างความสมดุลทางความคิด และเปิดตัวเองมากขึ้นเพื่อให้คนได้รู้จักทั้งผลงานและรู้จักตัวเรามากขึ้นพร้อม ๆ กันด้วย เพราะจริง ๆ แล้วตัวตนและความคิดของเราก็สำคัญเหมือนกัน
 
ในตอนนั้นความเจ็บปวดมันเริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเราไม่รู้ว่าตัวเองต้องเก่งกว่านี้อีกแค่ไหนถึงจะมีคนเห็น เพราะทุกสิ่งที่ทำอยู่ทั้งที่เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ผลงานออกมาดีแค่ไหนก็ไม่มีงานมาถึงมือเราสักที งานใหญ่ ๆ คนอื่นก็ได้ทำกันหมด หรือบางทีคนที่เข้าวงการมาทีหลังเราดูจะพุ่งตัวไปไกลกว่าเราแล้ว เริ่มสับสนว่าเพราะคอนเน็กชันเขาดีกว่าหรือว่ามันมีอะไรในตัวเขาที่ดีกว่า แต่สุดท้ายเราก็พยายามไม่โทษใครหรือนั่ง analyze (วิเคราะห์) อะไร และตั้งใจพยายามโฟกัสกับตัวเอง โดยตอนนั้นมีงานอะไรก็ลุยทำไปก่อนแต่จะพยายามทำให้ออกมาให้ดีที่สุด
 
จนถึงวันหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ใหญ่มากในชีวิต หรือจะเรียกว่าเป็น Wake up call ก็ได้ ตอนนั้นกราฟชีวิตเริ่มเป็นขาขึ้น เริ่มมีงานทำบ้าง แต่สุขภาพร่างกายกลับดิ่งลง ความเหนื่อยและสภาวะเครียดเรื้อรังสะสมตั้งแต่ตอนเรียนจบใหม่ ๆ เราเคยคิดจริง ๆ ว่าร่างกายวัยรุ่นมันถึกอยู่แล้ว จิตใจก็ทนได้หมด แค่ทำทุกอย่างให้เต็มที่พอ ด้วยความที่ยังเด็กเราไม่ได้แคร์ว่าเวลาป่วยมันจะเป็นอะไรมาก จู่ ๆ วันนึงในระหว่างที่กำลังทำงานเรากลับยืนไม่อยู่และล้มลงไปกองกับพื้นเลย เราป่วยเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทถึงขั้นที่เดินไม่ได้อยู่ช่วงหนึ่ง เราพยายามประคองตัวเองสุด ๆ เพราะรู้สึกว่าทุกอย่างมันจะมาจบลงตรงนี้ไม่ได้
 
เรื่องราวชีวิตวัยยี่สิบห้าที่ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่หลายเดือน ในเวลาเดียวกันพ่อเราเองก็เป็นมะเร็งเตรียมตัวจะผ่าตัด แล้วยังมีอุบัติเหตุรถยนต์ของที่บ้านด้วย แบบทุกอย่างเกิดขึ้นเยอะมากช่วงก่อนที่เราจะไปนิวยอร์ก หนึ่งสิ่งที่เปลี่ยนเราไปเลยในตอนนั้น คือวันที่กลับมาเดินได้ เพราะช่วงป่วยเราต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นผัก ต้องให้พยาบาล พ่อแม่ ทุกคนมาดูแลทุกอย่าง แต่ก็เป็นเวลาที่เราได้อยู่กับตัวเองเยอะ ได้วิเคราะห์ความคิดตัวเองเยอะมาก เราสำนึกเลยว่า ‘ถ้าร่างกายเรามันไม่ไหว ความพยายามทั้งหมดมันก็ไม่มีความหมายเลยนะ’ หลังจากนั้นความคิดเราเปลี่ยนเลย เราจะไม่มีเวลาที่จะมาทำร้ายตัวเองด้วยความกดดันหรือความเครียดแบบนี้อีกแล้ว มันไม่ส่งเสริมอะไรเลย มีแต่จะบั่นทอนตัวเอง
 
เราเลยบอกกับตัวเองหลังจากนี้ว่าถ้าอยากทำอะไรก็จะทำเลย จะไม่เสียเวลากับอะไรอีกแล้ว จะไม่ทำร้ายใครแล้วด้วย เมื่อก่อนที่เคยอ้างนู่นนี่โทษคนอื่นว่าโชคดีกว่าเรา แต่สุดท้ายแล้วก็เริ่มรู้ตัวเองว่ามนุษย์ก็แค่นี้ เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงโลกหรืออะไรได้อยู่แล้ว ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันเกิดไปตามกลไกความเป็นไปของช่วงเวลานั้น ฉะนั้นมันไม่มีเวลาที่จะมาทำร้ายใครแล้วเหมือนกัน เรากลายมาเป็นคนที่หยุดคิดร้ายกับทุกสิ่งและหยุดคิดร้ายกับตัวเอง

เรารู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นมาก ทั้ง ๆ ที่เราทำทุกอย่างเท่าเดิม เราคนเดิมที่เป็นตัวเองมากขึ้นในทุกวัน

ที่นิวยอร์กเป็นยังไงบ้าง

ก่อนที่จะไปนิวยอร์กเราคิดว่าเรารู้ทุกอย่างแล้วจริง ๆ เราคิดว่าเรารู้ว่ามนุษย์เป็นยังไง แล้วเราต้องดีลกับคนไหนแบบไหน เข้าใจไปเองว่าคนมันมีอยู่ไม่กี่ประเภทหรอก แต่พอเราไปถึงตรงนั้นวันแรกมันกลายเป็นว่ากูคือคนที่ไม่เคยรู้อะไรเลยตั่งหาก เพราะพอได้ไปเห็นอะไรมากกว่าโลกเล็ก ๆ ที่ตัวเองเคยรู้จัก เรากลายเป็นคนโง่คนหนึ่งเลย เดือนแรกที่เราอยู่ที่นิวยอร์กมันเป็นอะไรที่สนุกมาก เราตั้งใจจะเป็นใครก็ได้ที่เราอยากจะเป็น เป็นตัวเองในเวอร์ชันที่อยากจะเป็น ทำความรู้จักคนแปลกหน้า พูดในสิ่งที่อยากพูด เรารู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นมากทั้ง ๆ ที่เราทำทุกอย่างเท่าเดิม เราแค่เป็นคนเดิมที่เป็นตัวเองมากขึ้นในทุกวัน เริ่มไว้ผมยาวและแต่งตัวแบบที่อยากแต่ง พอเราใช้ชีวิตไปแบบนั้นแล้วมันทำให้เรารู้สึกมีตัวตนและมีความหมายมากขึ้น ตอนอยู่ไทยมันรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพยายามจนเก่งนะ แต่ไม่มีได้รู้สึกดีกับตัวเองเท่าตอนนี้จริง ๆ
 
ทั้งที่บางทีเราอาจจะแค่เดินอยู่เฉย ๆ ก็จะมีคนพุ่งเข้ามาหาได้เลยว่า ‘เฮ้ ฉันชอบชุดเธอนะ ชอบผมเธอด้วย’ ทั้งที่อยู่เมืองไทยภาพลักษณ์แบบนั้นมันอาจจะดูเยอะเกินไปด้วยซ้ำ หรืออย่างที่ไทยเราเจอคนรู้จักเราอยากจะเข้าไปกอด หรือทักทายว่า ‘Hey how are you’ แต่คนไทยในตอนนั้นก็ไม่ได้ทักกันแบบนั้น เพราะคำว่า ‘เป็นยังไงบ้าง’ สำหรับคนไทยบางคนมันคงฟังดูไร้สาระมาก ‘แบบ แค่สวัสดีก็พอละปะ ถามไมอะ แล้วจะให้กูเป็นอะไรวะ ก็ต้องสบายดีดิ’ อะไรแบบนี้ หลายอย่างที่เคยทำที่ไทยแล้วรู้สึกแปลก พอไปอยู่ที่นั่นกลายเป็นเรื่องปกติแทบทุกอย่าง
 
ความรู้สึกแปลกแยกที่เราเรียนจบมาแล้วทำงานไม่ตรงสาย พอไปเจอเพื่อนที่นู่น ที่กลางวันทำบาริสตา กลางคืนเป็นอาร์ทติสแล้วยังเป็นนักเขียนด้วย อีกคนเป็นพนักงานร้าน Poke Bowl แต่จริง ๆ ก็เป็นช่างแต่งหน้ารันเวย์อาชีพด้วย มันเหมือนกับว่าคุณจะเป็นใครก็ได้ที่อยากจะเป็น ทุกคนตรงนั้นไปตามฝันกันหมด ใบปริญญาไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับเราในการไปเรียน เพราะสิ่งที่เราได้กลับมามันคือการได้ไปเรียนรู้ชีวิต
Life in NYC © Song Sasawat

คนที่มีรางวัลมากมายในมือ เขาไม่จำเป็นต้องฟังเราเลยก็ได้ แต่เขาเลือกที่จะอยู่ในช่วงเวลานั้นกับเรา ตั้งใจฟังเราและชมงานเราออกมาโดยที่ไม่ได้พูดว่าเราเป็นคนเก่งด้วยซ้ำ

การเรียนที่นิวยอร์กเป็นยังไงบ้าง

มันเป็นที่ที่ได้คำตอบของคำถามที่ว่า ‘ต้องเก่งแค่ไหนถึงจะพอวะ’ เหมือนเป็นเครื่องเตือนสติให้กับเรา โดยเหตุการณ์ตอนที่เราเข้าไปเรียนที่ School of Visual Art สาขาการกำกับ จริง ๆ เป็นที่ที่เรารู้สึกว่าคนที่จะเข้าไปเรียนตรงนั้นได้มันไม่ยากหรอก บางคนในคลาสก็ดูมาเรียนเอาสนุก แค่คุณมีเงินจ่ายค่าเทอมคุณก็เรียนได้แล้วแหละ แต่ทั้งหมดมันอยู่ที่ตัวคุณว่าคุณจะเก็บเกี่ยวอะไรได้มากน้อยแค่ไหนด้วยแพสชันของคุณเอง เราเข้าไปด้วยความรักในงานกำกับภาพยนตร์ มันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกกับมันมาก ๆ  แล้วความโชคดีก็คือการที่เราเข้าเรียนในคลาส screenwriting ที่ทำให้เราได้เจอ special supervisor อย่าง Alexander Dinelaris ซึ่งเขาเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์ให้เรื่อง Bird Man และเป็นหนึ่งในทีมโปรดิวเซอร์เรื่อง The Revenant
 
การเจอกับเขามันไม่ใช่แค่ความตื่นเต้น แต่มันเกิดความรู้สึกว่า ‘เหี้ย นี่แหละ นิวยอร์กจริง ๆ’ การได้อยู่ในห้องร่วมกับใครสักคนที่ได้รางวัล Oscar และ Golden Globe มันง่ายขนาดนี้เลยเหรอวะ ในคลาสวันนั้นทุกคนจะต้อง pitching หนังที่ตัวเองจะทำเป็นธีสิส โดยเป็นการนั่งเป็นวงกลม เป็นการคุยกันที่จริงจังและสิ่งที่เราสังเกตได้คือเขาจะมองหน้าเราตลอด สบตากันตลอด บรรยากาศคล้ายกับ Focus group (การสนทนากลุ่ม)
 
แต่ละคนเล่าหนังที่คิดไว้ในหัวออกมาทีละคน ซึ่งในตอนนั้นเราเพิ่งไปถึงเพียงเดือนเดียว ภาษาอังกฤษไม่ใช่ปัญหาของเรานะ แต่ปัญหาคือการสื่อสารความคิดออกมามากกว่า เราเป็นคนที่ค่อนข้างเอ่อล้นด้วยความรู้สึกเวลาพูดและจะพูดยาวมากและจะเล่าไปเรื่อย ๆ ยังดีที่ขมวดปมกลับไปที่เดิมในตอนหลังได้ แต่ขอให้ได้พูดและแตกแขนงจากในสมองออกมาก่อนว่าเราอยากจะพูดอะไร
 
หนังเรื่องที่เราจะเล่าถือเป็นหนังเรื่องแรกในชีวิต มันเป็นการรวมสิ่งที่เป็นวิธีคิดและความเชื่อส่วนตัวของเรา บวกกับความเป็นแฟนตาซีนิดหน่อยที่เราชอบ ตอนนั้นก็คิดในใจอย่างเดียวว่ากูจะพูดให้คนอื่นรู้เรื่องได้ไงวะ ยังไม่มีโครงสร้างด้วยซ้ำ มีแค่ตอนต้น ตอนจบ และตัวละครคร่าว ๆ ตัดภาพไปที่ตรงหน้าเรามองเห็นคนที่ประสบความสำเร็จขนาดนั้นกำลังตั้งใจรอฟังอยู่ เราจะทำยังไงดีนะ คิดไปคิดมาก็เลยช่างแม่งเลยละกัน ปล่อยจอย เล่าไปแบบที่เราคิดอยู่ในหัวทั้งแบบนั้นแหละ
 
สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อดีของเราคือเวลาเราคุยกับใครเราจะชอบมองตา การมองตาเป็นการเช็กว่าเขาฟังเราอยู่รึเปล่า ภาษามันบิดเบือนได้ แต่เจตนาผ่านสายตามันจะไม่หลอกกัน ถ้าเราพูดด้วยสายตาที่มุ่งมั่นแต่คำพูดเราที่พูดออกไปมันอาจจะผิดไปบ้าง เจตนาในสายตาของเรามันจะบอกกับเขาได้ว่าเรามีความตั้งใจและมุ่งมั่นกับสิ่งที่พูดจริง ๆ
 
อเล็กซ์ล็อกสายตากับเรา ไม่ละสายตาจากเราเลย ทำให้เรารู้สึกดีมาก ๆ ที่เขาฟังเราอยู่จริง ๆ ในขณะที่เราพรั่งพรูสิ่งต่าง ๆ ออกไปเรื่อย ๆ เล่าทุกอย่างที่รู้สึก จนน้ำตาเราซึมออกมาเอง หลังจากที่เล่าจนจบท่าทางของอเล็กซ์ก็เปลี่ยนไป แบบเขาทิ้งตัวไปพิงเบาะ เงยหน้าขึ้นแล้วถอนหายใจแรงมาก ตอนนั้นเราหันหน้าไปมองรุ่นพี่คนไทยอีกคนหนึ่งด้วยความกังวล เราเห็นอเล็กซ์เริ่มหน้าแดงและน้ำตาคลอแล้วเอามือลูบหน้าตัวเอง ถอนหายใจอีกครั้งและพูดกับเราว่า ‘I had never heard anything like this before’ เขาไม่เคยได้ยินไอเดียอะไรที่สดใหม่ขนาดนี้มาก่อน ถามเราว่านี่คุณเป็นใคร ตอนนั้นเราแทบร้องไห้เลย มันเป็นคำชมที่มาในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เคยได้รับ จากคนที่เหนือกว่าเราไม่รู้กี่เลเวล มีรางวัลมากมายในมือ เขาไม่จำเป็นต้องฟังเราเลยก็ได้ แต่เขาเลือกที่จะอยู่ในช่วงเวลานั้นกับเราและชมเราออกมาโดยที่ไม่ได้พูดว่าเราเก่ง แต่กลับขอบคุณเราที่เล่าเรื่องที่เขาไม่เคยได้ยินมาก่อนให้เขาได้ฟัง มันทำให้วันวันนั้นหัวใจมันพองโตและตอบตัวเองได้แล้วว่า ‘มึงเก่งแค่ไหนมึงก็พอ ถ้ามึงอยู่ถูกที่และอยู่กับคนที่เขาพร้อมที่จะมองเห็นและรับฟัง’
 
หลังจากนั้นความสุขมันก็เริ่มระเบิดมากขึ้นเมื่อสองสามอาทิตย์หลังจากนั้นที่กลับมาเจอกันในคลาส เขาก็มาบอกกับเราว่าเขาจะเขียนบทหนังเรื่องนี้ให้เรานะ เป็น Favor ให้ และทิ้งท้ายไว้อีกว่า ‘If I don’t do this, it’s going to be my mistake’ ถ้าเขาไม่ทำสิ่งนี้เขาจะรู้สึกพลาดมาก คือเขาไม่เช็กประวัติเราเลยว่าเราเป็นใครที่ไหน ทำอะไรมาก่อน เราจะล้มเหลวรึเปล่า จะขายฝันรึเปล่า พลอตหนังที่พูดมาในวันนั้นจะทำได้จริงไหมไม่รู้ แต่เขาเลือกเราเพราะว่าแพสชันทั้งหมดอยู่ในตาของเราในวันแรกที่คุยกันและเขาเชื่อในสิ่งนั้นที่สุด
 
เขาใช้คำว่าเราแลดูเป็น Good Person ที่ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนดี แต่หมายถึงการที่เขาเชื่อว่าเราจะซื่อสัตย์กับตัวเองและความต้องการของตัวเอง เขาเชื่อว่าเราตั้งใจที่จะทำงานตรงนี้จริง ๆ เหตุการณ์นี้ทำให้ imposter syndrome มันกำเริบอีกทีหนึ่งแล้วคิดกับตัวเองว่า ‘เขาเก่งระดับนี้ แล้วเราเป็นใครวะ เงินก็ไม่มีปัญญาจะไปจ้างเขาอยู่แล้ว อยู่ดี ๆ เขาจะมาเขียนหนังเรื่องแรกให้ฟรี ๆ ทั้งที่เรายังไม่ได้เป็นที่ยอมรับจากที่ไหนเลยได้ยังไงกัน’
 
เราเลิกยึดถือความคิดที่ว่า ‘เราต้องดีแค่ไหนถึงจะพอ’ มากขึ้นเรื่อย ๆ การทำหนังกับอเล็กซ์ทำให้เราได้ร่วมงานกับเพื่อนในวงการของเขาด้วย เป็นทีมงานที่อาวุโสกว่าเรามากและล้วนอยู่ในฮอลลีวูดมานาน รวมถึงโปรดิวเซอร์ชาวอิตาเลียนสองคนที่หนึ่งในนั้นเคยร่วมงานในหนังของ Madonna ก็มาช่วยกันซัพพอร์ทหนังเราฟรี ๆ ทั้ง ๆ ที่เราเป็นแค่เด็กชายเอเชียนเด๋อ ๆ คนหนึ่งที่เพิ่งมาจากเมืองไทย ไม่ได้มีดีกรีความน่าเชื่อถืออะไรมาก แต่พวกเขากลับฟังเราทุกคำพูด 
 
เรามีไอเดียอะไรอยากเสนอตรงไหนทุกคนฟังเราหมด ทั้งที่ทุกคนมีรางวัล เป็นเพื่อนกับเซเลปฮอลลีวูด มีรายได้ต่อปีตั้งเท่าไหร่ บ้านหรูหรายิ่งใหญ่แค่ไหน เขากลับเคารพในตัวเราและในงานของเราในฐานะผู้กำกับ นี่แหละคือสิ่งที่สอนให้เราเรียนรู้ How to be a good Film Maker ที่แท้จริง มันยิ่งใหญ่มากสำหรับเรา มันเป็นการได้เรียนรู้ในระบบการทำงานของที่นั่น ที่ทำให้เรามองย้อนมาที่ระบบการแบ่งแยกชนชั้นการทำงานในเมืองไทยที่มีเรื่องขั้นลำดับและความเชื่อบางอย่างที่มันไม่มีประโยชน์เลย เมื่อเทียบกับประสบการณ์การทำงานที่เราเคยเจอที่นิวยอร์ก
 
ถ้าเราไม่ได้ทำงานร่วมกับคนพวกนี้ เราก็ไม่มีวันที่จะกลับมาเป็นตัวเองในเวอร์ชันนี้ เราเริ่มพอใจในชีวิตทุกย่างก้าวและโอเคกับทุกความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น และช่างแม่งหมดแล้วทุกอย่างที่เคยกวนใจ ในเมื่อเราโชคดีได้กลับมามีชีวิตปกติอีกครั้ง เราเห็นค่าความเป็นมนุษย์และคนรอบตัวมากขึ้น เห็นค่าความรักและให้ความสำคัญกับตัวเองมากขึ้น วันนี้เราสามารถเป็นเพื่อนกับใครก็ได้ และยิ่งตอบรับกับความเชื่อที่ว่ายิ่งถ้าเราไม่คิดลบกับใครมันยิ่งจะดึงคนที่เหมือนกันเข้ามาหาเรามาขึ้น
Work in NYC © Song Sasawat

มีประสบการณ์อะไรอีกนอกจากการได้ไปเรียนรู้เรื่องราวของ Film Maker

อยู่ที่นั่นมันเกิดอะไรขึ้นเยอะมาก การได้ come out (เปิดเผยตัวตน) ออกมาเป็นตัวเองในเวอร์ชันนี้ การยอมรับว่าเราเป็น Queer / Nonbinary ว่าเราชอบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง และเราเลือกที่จะสื่อสารความรู้สึกกับตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ทำให้รู้สึกดีกับตัวเองมาก มันต่างจากตอนอยู่ที่ไทยเราไม่กล้าคิดหรือแสดงออกแบบนี้ได้เลย เรากลัวสังคม กลัวการแชร์เรื่องราวมากเลย อาจเพราะเราเติบโตมากับการเป็นผู้ชายมาตลอด ถ้าวันหนึ่งไม่เป็นผู้ชายขึ้นมามันจะเป็นยังไงวะ แต่ตอนอยู่ที่นั่นเราช่างแม่งหมดเลย แล้วใช้ชีวิตแบบ YOLO เลย ที่แปลว่าใช้ชีวิตให้คุ้มกับที่มีครั้งเดียว
 
เราไม่อยากเสียเวลากับอะไรอีกแล้ว และมันจะมีสักกี่คนที่จะป่วยแล้วสามารถหายกลับมาเดินได้แบบเรา ตอนนั้นเราทำหมดเลยนะ เริ่มใส่ส้นสูง ไว้ผมยาว ใส่กระโปรง ไป Thrift shop เราจะเดินไปที่โซนผู้หญิงเลย เสื้อผ้าผู้ชายอาจจะดูแค่บางชุดในชุดที่เอาไว้ใส่อยู่บ้าน แค่เพราะมันเหมาะกับสรีระของเราใส่สบายมากกว่าแค่นั้นเอง
 
เราไม่ซื้อแบรนด์เนมหรือเสื้อผ้ามือหนึ่งเท่าไหร่ และช่วงนั้นเราเริ่มสนใจใน sustainable fashion มากขึ้น คนไทยบางกลุ่มคงมองว่าการใส่เสื้อผ้ามือสองมันดูน่ากลัว มีผีสิง หรือดูไม่มีกำลังซื้อหรือเปล่า แต่ที่นิวยอร์กเขาไม่แคร์เลย มันมีคำว่า ‘relove the preloved’ รักของที่มันเคยถูกทอดทิ้งไปแล้ว ก็ย้อนกลับมาที่ตัวเราว่าเราก็อยากจะให้ความรักกับทุกอย่างทั้งธรรมชาติ สิ่งของ และสิ่งมีชีวิต ความคิดเราคือ ‘all is full of love’ เราเลยกลายเป็นคนที่เต็มไปด้วยความรัก 
 
เมื่อก่อนเราอาจจะมีเป้าหมายแค่ต้องประสบความสำเร็จและต้องเก่ง ต้องพุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว แต่ตอนนี้ความรักคือที่หนึ่ง ความรักที่ไม่ใช่ความรักเชิงความสัมพันธ์อย่างเดียว แต่เป็นความรักที่รักในทุกอย่างให้ได้แบบจริง ๆ ถ้าเมื่อไหร่เราสูญเสียความรักหรือสิ่งใดก็ตามที่เรารัก มันจะกระทบเราและงานของเราทันที
Directing on set (BKK) © Song Sasawat

เราเลือกรับฟังทีม แม้บางครั้งมันมีความต้องการจากเราในฐานะผู้กำกับ แต่เราเลือกที่จะยอมตัดความต้องการนั้นออกและหาเส้นทางที่สมดุลที่สุดสำหรับทีม

หลังจากกลับมาทำงานที่ไทยแล้วมันต่างกันแค่ไหน

ช่วงเรากลับมาที่ไทยทำงานในกองถ่าย เราทรีตทีมงานทุกคนเป็นเหมือนพี่น้องและครอบครัว เราจะไม่เหวี่ยง หรือพยายามไม่ทำให้เขารู้สึกแย่ เพราะไม่รู้เลยว่าคนที่อยู่ต่อหน้าเรากลับบ้านไปเขาจะต้องเจอกับเรื่องเหี้ยอะไรบ้าง เราเลยขอไม่เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้วันวันหนึ่งของใครสักคนแย่ลงไปกว่าเดิม
 
เราจะให้เกียรติทีมของเราเสมอ ในฐานะที่คนเราเท่ากันหมด การที่ทุกคนเรียกเราว่าพี่สองหมดเลยเพียงเพราะว่าเราเป็นผู้กำกับมันเหมือนเขาให้เกียรติเรามากก็จริง แต่ถ้าไม่มีทีมงานทุกคนที่อยู่กับเราเหล่านั้นมาช่วยทำงานร่วมกันมันจะไม่เกิดขึ้นได้เลย เราเชื่อว่าผลงานทุกชิ้นของเรามันออกมาดีที่สุดแล้วในตอนจบ เพราะถ้าสมมุติว่าทีมงานเรามีสิ่งที่มองต่างจากเรา เราก็จะรับฟังเขา ถ้าเขาบอกว่าอันไหนทำง่ายทำยาก อันไหนทำได้ทำไม่ได้ เราจะรับฟังเขาทั้งหมด แม้ในบางครั้งจะมีความต้องการจากเราในฐานะผู้กำกับเกิดขึ้น แต่เราเลือกที่จะตัดความต้องการนั้นทิ้งและพยายามหาเส้นทางที่สมดุลที่สุดสำหรับทีม เพื่อที่จะให้ทุกคนได้ในสิ่งที่เขาคิดว่าตัวเองทำได้ มั่นใจ และจะออกมาดี เพราะเราเชื่อว่าทุกคนสมควรที่จะได้แสดงความเห็นกับสิ่งที่เขาอยากได้เช่นกัน
 
ความตั้งใจคือเราจะใส่ความรักเข้าไปในทุกอย่างที่เราทำ ฉะนั้นหนังทุกเรื่อง งานทุกชิ้น หนึ่งคืออย่างน้อยเลยเราต้องรักในงานนั้น สองคือเราต้องรักและเคารพในความต้องการและความเป็นตัวตนของค่ายเพลง, ลูกค้า, ตัวศิลปิน หรือทีมงาน แม้จะมีหลายครั้ง หลายเหตุการณ์ที่บางอย่างมันจะดูไร้สาระกับเราแค่ไหนก็ตาม อะไรที่มัน Bullshit ก็คือ Bullshit แหละ แต่เราก็จะมองเขาในแง่มนุษย์เหมือนกัน ว่าทุกอย่างมีเหตุผลของมัน อาจจะมีที่ถูกที่ผิดบ้าง หรือถึงแม้บางทีที่เราอาจจะเกลียดบรีฟงานนี้ อาจจะไม่ชอบเพลงนี้ แต่สุดท้ายเราจะพยายามทำออกมาให้ดีที่สุดและพยายามทำให้เขามีความสุขกับงานของเขา ให้เขาได้ภูมิใจกับผลงานของเขา แล้วเราเองนี่แหละที่จะรู้สึกยินดีไปกับเขาด้วย เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเราอยากเป็นผู้กำกับหนังที่ประสบความสำเร็จ ยังไงซะเราต้องเข้าใจมนุษย์ให้มากที่สุด
Vital Maxim Music Video © Song Sasawat

เมื่อเรารู้จักตัวเองและแสดงออกได้อย่างอิสระมันมีผลกับเป้าหมายในอนาคตอย่างไร

ตอนนี้เราเลยหันมาทำเพลงตัวเอง อย่างที่บอกว่าเราอยู่กับดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ชอบฟังเพลงแต่เล่นดนตรีไม่เป็นนะ ในช่วงที่โควิดระบาด ตอนนั้นไม่มีงานกำกับเลย อยู่มาวันหนึ่งเราลองเขียนเพลงแล้วซุ่มทำเพลงเองมั่ว ๆ ใน Garage Band ให้ออกมาเป็นแบบที่เราชอบ แล้วส่งเดโมให้เพื่อนสนิทฟัง ก่อนจะส่งไปให้โปรดิวเซอร์ลองทำเพลงนี้ขึ้นมา ซึ่งตอนนี้ปล่อยออกมาเพลงหนึ่งแล้วชื่อว่า Vital Maxim และเร็ว ๆ นี้ก็กำลังจะมีเพลงใหม่ออกมาอีก ก็เป็นความสนุกที่เติมเต็มตัวเองมาก ๆ และอย่างปีนี้เราก็คิดว่าเราจะหาเวลาไปลองเรียนเป่าแก้วด้วย เรารู้สึกว่าเราอยากเป็นบุคคลที่ทำอะไรได้หลาย ๆ อย่าง จะทำดีไม่ดีไม่รู้ แต่ถ้าได้ทำแล้วมีความสุขเราจะอยากทำมาก
 
เราให้ความสำคัญกับความรัก ความสงบในใจ และความเป็นมนุษย์มาก อย่างตอนนี้ที่เราเป็นคนไม่นับถือศาสนาขนาดนั้นแล้วด้วย ในบัตรประชาชนคงเขียนไว้แหละว่าเรานับถืออะไร ซึ่งเราขี้เกียจจะไปแก้มัน แต่เรารู้ตัวเองดีแก่ใจว่าเราเป็นใคร เพศอะไร ศาสนาอะไร เราเชื่อในอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ศรัทธาในพุทธศาสนา หรือศาสนาอื่น ๆ นะ สำหรับบางคำพูดบางคำสอนถ้ามันเมกเซนส์มันก็เมกเซนส์จริง ๆ
 
อย่างในเชิงการเมือง กับบางคนในฐานะที่เขาอยู่ฝั่งตรงข้ามทางการเมืองกับเรา เราก็ยังมองเขาเป็นมนุษย์อยู่ดี เพราะทุก ๆ การต่อสู้และเรียกร้องของทุกคนมันก็เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคนอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ หมายความว่าสุดท้ายแล้วที่เราทำทุกอย่างมันไม่มีทางที่จะเป็นเจตนาร้ายกับใคร ต่อให้เขาควรได้รับการลงโทษในความผิดที่ทำไปก็ตาม สุดท้ายความตายมันเกิดขึ้นอยู่แล้ว ทุกคนก็ต้องเรียนรู้และได้รับบทเรียนในช่วงเวลาหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ที่พูดมาทั้งหมดมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้กำกับของเราทั้งนั้น

คิดยังไงกับวงการคนทำงานภาพยนต์ในไทย

วงการของเราความจริงแล้วอุดมไปด้วยคนที่มีแพสชันและคนเก่งจริง ๆ เยอะมาก ๆ ทั้งคนรุ่นเรา รุ่นโตกว่าหรือรุ่นน้องที่มาใหม่ เพราะทุกคนน่าจะมีค่าตั้งต้นเดียวกันหมดคือความต้องการเข้ามาทำตรงนี้ให้มันดีขึ้นด้วยความรัก มันยังยากที่จะอยู่ตรงนี้และทำให้มันเป็นอาชีพที่รายได้มั่นคงได้ ถ้าพูดตรง ๆ เราเป็นหนึ่งในคนที่โชคดีที่ได้ทำ MV ที่งบเยอะมาอย่างต่อเนื่องในช่วงปีนี้ แต่อย่างที่เล่าไปว่ากว่าที่เราจะมาถึงตรงนี้มันก็ไม่ง่ายเช่นกัน แล้วคุณค่าของ MV ในประเทศนี้เหมือนถูกมองว่าเป็นแค่ภาพประกอบเพลงสร้างขึ้นเพื่อความบันเทิง ยังไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควรจะเป็น ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วการทำ MV มันก็เหมือนกับการทำโฆษณาตัวหนึ่งเลยนะ งบประมาณในการทำ MV มันควรได้เยอะเท่ากับโฆษณาหนึ่งตัวได้แล้ว เพราะมันคือการทำแบรนด์ดิ้งและเป็นมาร์เก็ตติ้งให้กับศิลปินและค่ายเพลงเอง อย่างศิลปิน K-pop ปล่อย MV ออกมาเมื่อไหร่มันจะเกิดอิมแพคและต่อยอดไปได้ไกลมาก เพราะศิลปะสำหรับเขามันถูกให้ค่ามากขนาดนั้นไง
 
ในประเทศไทยหลายครั้งมากที่งบประมาณที่มอบหมายมาให้มันสวนทางกับผลลัพธ์ที่เขาคาดหวัง ที่อยากให้ออกมาคุณภาพเหมือน MV ต่างชาติที่งบมากกว่าเราเกินเท่าตัว ซึ่งจริง ๆ ตอนนี้เรากับทีมพยายามอย่างมากที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับงานและพยายามที่จะสื่อสารให้ทีมลูกค้าและค่ายทำความเข้าใจเพื่อให้เห็นจริง ๆ ว่าเขาควรลงทุนกับตรงนี้มากขึ้นแค่ไหน เหมือนกับคนโปรดักชันไม่สามารถทำงานมิวสิกวิดีโอเป็นหลักอย่างเดียวแล้วเลี้ยงชีพได้ เขายังต้องทำอย่างอื่นไปด้วยทั้งงานโฆษณา งานหนัง อื่น ๆ อีก ทำไมพอเป็น MV แล้วมันกลายเป็นงานที่มีงบที่ต่ำที่สุดตลอด มันไม่แฟร์เลย
 
เรามีผลงานมิวสิกวิดีโอเยอะมากจนคนเข้าใจไปเองว่าเรารับทำแต่งานมิวสิกวิดีโอ แต่ถ้าพูดจากประสบการณ์ในสายงานนี้เราบอกได้เลยว่า ณ วันนี้มันสามารถเป็นรายได้หลักให้เราได้ แต่สำหรับอีกหลายคนในวงการมันอาจจะยังเป็นไปไม่ได้ แม้กระทั่งกับคนที่มีชื่อกว่าเราหรือเก่งกว่าเรา เพราะทุกคนล้วนเจ็บปวดกับเรื่องงบประมาณตรงส่วนนี้ สำหรับเรา MV มันควรสามารถเป็นรายได้ที่มั่นคงให้กับทุกคนมากกว่านี้ได้แล้ว ไม่ใช่แค่ว่าคุณต้องทำงานโฆษณาเพื่อหาเงินกินข้าว ทำหนังยาวเพื่อเอาเงินมาเลี้ยงชีพและทำ MV แค่เติมเต็มแพสชัน
Directing on set (BKK) © Song Sasawat

มันไม่ใช่ยุคที่คนทำงานจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทำงานหนักเพื่อแลกพอร์ตแล้ว

ทุกคนต้องสามารถเลี้ยงชีพตัวเองให้ได้ ในขณะเดียวกันคุณภาพงานต้องไม่ต่ำลง และคุณค่าในชิ้นงานต้องเพิ่มสูงขึ้นตามด้วย

คิดว่าสิ่งที่คุณสองและทีมทำกันอยู่มันสร้างคุณค่าอะไรให้กับอุสหกรรมไหม

เป้าหมายของทีมเราคือตอนนี้เราจะทำยังไงให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้ว่าจ้างงานมากกว่า ทุกวันนี้เราไม่เคยรู้สึกว่าเราเหนือกว่าใครเลยจากการที่ได้โอกาสทำ MV งบเยอะมาก  ๆ และออกมาคุณภาพสูงกว่าบางผลงานของท่านอื่น ๆ ในเมื่อแต่ละทีมได้งบไม่เท่ากัน บางคนเอางานที่เราได้งบหลักล้านไปเปรียบเทียบกับงานที่ได้งบหลักแสน มันจะเทียบกันได้ยังไง เทียบกันไม่ได้เลย
 
กลับกันเรากลับรู้สึกดีใจทุกครั้งที่ได้รู้ว่าผู้กำกับท่านอื่นได้งบเท่ากับที่เราได้ และไม่เคยรู้สึกว่ามันคือการแข่งขัน เพราะทุกคนสมควรที่จะได้ทุนในการผลิตสูงเท่านี้เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว อีกอย่างทีมงานทุกคนจะต้องไม่โดนกดค่าแรงด้วย ยังรวมไปถึงเรื่องการทำงาน 12 ชั่วโมง มันก็ควรต้องจบภายใน 12 ชั่วโมงให้ได้ เราให้ความสำคัญกับเรื่องเวลาการทำงานมาก ๆ เช่นกัน
 
ทุกครั้งในการออกกองเราจะพยายามไม่ให้เบรกแตกเลย ซึ่งมันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เสมอจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ควบคุมได้ยาก เช่น สภาพอากาศ การจราจร ทุกอย่างมันจะส่งผลต่อเนื่องให้การทำงานเลทไปเรื่อย ๆ ในช่วงแรกที่ทำงานเรายังสามารถที่จะคุมกองไม่ให้เกิน 12 ชั่วโมงได้ แต่พองานมีสเกลที่ใหญ่ขึ้นมันยากที่จะควบคุมมากขึ้น เพราะมันมีปัจจัยอื่นเยอะเพิ่มขึ้นอีกทุกวันนี้เลยพยายามจะเลทมากสุดไม่ให้เกินสองชั่วโมง เพราะโอทีจะเป็นเงินที่ทีมเราต้องรับผิดชอบ เลยพยายามที่จะไม่ให้ไปถึงจุดนั้น 
 
เรารู้สึกว่าทุกคนเหนื่อยและควรได้รับค่าตอบแทนมากพอที่เขาจะยังสามารถมีความสุขกับงานที่เขาทำได้ มันไม่ใช่ยุคที่คนทำงานจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทำงานหนักเพื่อแลกพอร์ตอย่างเดียวแล้ว ในวัยที่ทุกคนกำลังสร้างตัวและยุคที่เศรษฐกิจก็แย่ แบบที่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ สุขภาพก็ต้องดูแล ครอบครัวก็ต้องดูแล ทุกอย่างต้องเดินไปข้างหน้า ทุกคนต้องสามารถเลี้ยงอาชีพตัวเองให้ได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันคุณภาพงานต้องไม่ต่ำลงและคุณค่าในงานต้องเพิ่มสูงขึ้น
 
เรายังยืนยันว่าเมืองไทยเรามีคนเก่งเยอะมาก มากพอที่จะแข่งขันกับนอกประเทศได้สบาย ๆ ทุกคนล้วนมีแพสชันไม่ว่าจะอยู่สายไหนก็ตาม เราทราบมาว่าเคยมีโปรดิวเซอร์ต่างชาติบางคนพอเห็นตัวเงินที่เราทำงานกันทุกวันนี้ยังเซอร์ไพรส์กับผลลัพธ์ว่า ‘เฮ้ย งานขนาดนี้แต่มีงบเท่านี้เองเหรอ พวกยูทำได้ยังไง’ เพราะบ้านเขาถ้าต้องทำแบบเดียวกับที่เราทำ มันต้องใช้เงินและเวลามากกว่านี้มาก ๆ ซึ่งเราแอบคุยกับทีมมาตลอดนะ ว่าถ้าเราได้เงินและเวลามากขนาดที่เขาได้ เราจะทำมันออกได้ขนาดไหนกันนะ
 
จริงอยู่ที่เราเองก็เริ่มได้งานที่มีงบมากขึ้นจากที่เคยได้มา แต่มันยังถือว่าไม่เยอะอยู่ดี มันอาจจะฟังดูโลภมากนะ แต่เงินล้านนิด ๆ มันถือว่าน้อยสำหรับโปรดักชันนะเอาจริง ในโลกของครีเอทีฟและการสร้างสรรค์ผลิตผลงานศิลปะ เมื่อกระจายแล้วสุดท้ายเงินมันตกมาถึงคนที่ทำงานจริง ๆ ไม่เท่าไหร่หรอก ถ้าจะให้มันสามารถต่อยอดอาชีพและหล่อเลี้ยงคนที่ทำงานสายนี้ได้งบประมาณต้องมากกว่านี้
 
เราอาจจะเปลี่ยนอะไรได้ไม่มากแต่ยังอยากพยายามทำให้มันเป็นเรื่องปกติได้แล้วที่ต้องทำให้คนเห็นว่า ถ้าอยากได้งานแบบนี้คุณต้องลงทุนมากขึ้นสิ ไม่ใช่แค่กับทีมเรานะ แต่เชื่อว่ากับใครก็ตาม ทุกคนพร้อมและมีความสามารถมากพอที่จะสร้างงานให้กับคุณได้ออกมาดีมากทั้งนั้น ขอแค่เขาได้ทุนและเวลาทำงานที่มากพอที่เขาจะสามารถแสดงศักยภาพนั้นออกมาอย่างเต็มที่แน่นอน
Directing on set (BKK) © Song Sasawat

เราอยากจะเป็นศิลปินที่คนค้นพบโดยบังเอิญ แล้วเขาชอบผลงานเราแค่นั้นเลย เราอยากที่จะทำงานทุกอย่างให้คนได้ชื่นชมโดยไม่จำเป็นต้องรู้เลยว่าเราเป็นใคร

เรื่องราวเกี่ยวกับคุณสองที่คนอื่นไม่รู้และอยากจะเล่า

คนที่เคยเจอกับเราจะรู้สึกว่าเราเป็นคนพูดจาฉะฉานชัดเจน และมักจะมองตาคนฟังอยู่ตลอดเวลา ตอนอยู่ในกองถ่ายเราต้องถือไมค์พูดและดึงดูดความสนใจ สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้คนได้ก็จริง แต่ในความเป็นจริงแล้วเราขี้ออายมาก ไม่ชอบอยู่ในจุดสนใจเลย เรามองตัวเองเป็น observer (ผู้สังเกตการณ์) มากกว่าด้วยซ้ำ เพราะเราจะเป็นคนนั้นที่เงียบ ฟัง และคอยเก็บข้อมูลมาประมวลผลตลอด แต่ในตอนที่ทำงาน เราต้องพูดออกมาเสียงดังฟังชัดที่สุด เมื่อมีปัญหาก็ต้องพยายามจะตัดสินใจหาทางออกให้ไวที่สุด ถ้าถามว่าลึก ๆ แล้วมีความลังเลในใจอยู่บ้างไหม มันมีอยู่เสมอ เพราะเราไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมั่นใจหรือเก่งขนาดนั้น แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ต้องพูดก็ต้องพูดต้องทำ เราจะพยายามเพอร์ฟอร์มให้ดีที่สุดเพื่อให้มันผ่านไป เพราะไม่อยากให้คนรอบข้างมาเสียเวลาของเขาไปกับเรา
 
เราเป็นคนที่ขี้อายมากจริง ๆ ซึ่งมันก็ทำให้เราเป็นคนที่ต้องคอย manifest (แสดง) ทุกอย่างตลอดเวลา เพราะมันคือการสะกดตัวเองให้เชื่อในสิ่งตรงนั้นและจูนไวบ์ทุกคนเข้ามาหาเรา ‘ทุกอย่างมันจะดี และเราจะทำมันได้ งานนี้ต้องออกมาดี สิ่งที่เราพูดคนต้องอยากฟัง’ แต่มันก็ย้อนแย้งมาก เพราะล่าสุดที่เราเริ่มทำเพลงเอง บทบาทการเป็นศิลปินอาจจะดูว่าต้องเป็นคนที่เข้าสังคมเก่งและ extroverted (เปิดเผย) มาก เพราะเราเอาเรื่องตัวเองหรือความเชื่อของตัวเองมาเล่าให้คนอื่นฟังเป็นเพลง คือถึงแม้เรารู้สึกไม่อยากสุงสิงกับใครก็จริง แต่ถ้าอย่างน้อยเราได้พูดเรื่องตัวเองออกมาในทางใดสักทางหนึ่ง เราก็รู้สึกดีอยู่แล้ว แต่ถึงตอนที่ปล่อยเพลงออกมาเราก็จะไม่เรียกคนเข้ามาฟังนะ เราอยากจะเป็นศิลปินที่คนค้นพบโดยบังเอิญ แล้วคนเขาชอบผลงานเราด้วยตัวเขาเองแค่นั้นเลย เราอยากที่จะทำงานทุกอย่างให้คนได้ชื่นชมโดยไม่จำเป็นต้องรู้เลยว่าเราเป็นใคร
Image © Kylie Menogue Come Into My World (Music Video)

บุคคลที่ประทับใจและอยากแนะนำให้รู้จัก

คนที่เรานึกถึงเขาแทบจะตลอดเวลาและอยู่ในหลายช่วงเวลาของชีวิตคือ Michel Gondry เป็นผู้กำกับที่เราอาจจะไม่รู้ประวัติลึกซึ้งหรือเสพงานของเขาครบทุกชิ้น แต่แทบทุกผลงานที่เราจำได้มันเป็นสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจทำให้เรามีวันนี้ ไม่ใช่แค่ในแง่ของงานภาพยนตร์ที่สวยงาม แต่เป็นในเรื่องของวิธีคิดงานและคอนเซปต์ที่อยู่เบื้องหลังทุกรายละเอียดมากกว่า ความว้าวของความครีเอทีฟและสิ่งที่สื่อสารออกไป เขาไม่เคยหยุดทำให้เราว้าวขึ้นเรื่อย ๆ เขาคือคนที่ทำให้เรารู้สึกแบบนั้นได้และทำให้เราอยากจะทำได้อย่างเขา
 
ความฉลาดที่เรามองเห็นในงานเขามันมาจากความซื่อ ๆ ของเขาเลย มันจะมี MV เพลง Come Into My World ของ Kylie Menogue ช่วงปี 2000 ซึ่งเรารู้สึกว่าสิ่งที่เขาเอามาบรรดาลใจทำเป็น MV มันไม่มีอะไรที่ซับซ้อนเลย เพลงป็อปดี ๆ เพลงหนึ่งที่มีนักร้องเดินวนลูปและถูก duplicate (ซ้ำ) ตัวไปเรื่อย ๆ แต่มันกลับออกมา iconic ได้ขนาดนี้ ในตอนที่ดูครั้งแรกนั้นเทคโนโลยีการทำอะไรแบบนี้คือเราว้าวมาก ยิ่งพอได้ดูเบื้องหลังวิธีคิดงานของเขา เรายิ่งประทับใจ มันยิ่งทำให้เราอยากสนุกกับการคิดงานตัวเองมากขึ้น งานของเขามันมีความซับซ้อนในเชิงคอนเซปอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสนใจ
 
สำหรับเรา คุณสมบัติของเขาที่รู้สึกว่าเจ๋งจริง ๆ มันคือการทำให้คนดูรู้สึกว้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เราอยากเป็นคนฉลาดที่คิดอะไรแบบนั้นได้เสมอ มันไม่ได้หมายความว่าเราต้องเก่งขนาดนั้นหรอก ทุกคนแค่ต้องทำสิ่งที่มันเป็นธรรมชาติของตัวเอง ไม่พยายามไปดันทุรังจนดูฝืน แต่แค่ให้รู้สึกว่าสนุกเหลือเกินที่ยังเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์มันยังไปต่อได้ไม่รู้จบสักที

แนะนำสำหรับคนที่กำลังตามหาแพสชัน

แพสชันมันอยู่รอบตัวเรา ถ้าเรามองโลกมากขึ้นและใจเย็น ๆ กับการใช้ชีวิตในแต่ละวันเราจะเจอมันเอง ตอนนี้มันน่าจะมีคนอยู่สองแบบ คือ หนึ่งคนที่ยังไม่รู้ตัวเองว่าชอบอะไรกับ สองคือคนที่แพสชันมันฝ่อไปแล้ว ถ้าข้อความนี้มันส่งไปถึงเขาได้เราแค่อยากจะบอกว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ต้องกดดันตัวเอง ไม่จำเป็นต้องโต้คลื่นไปในคลื่นเดียวกับคนอื่น เพราะมนุษย์ทุกคนมีความเร็วและจังหวะชีวิตที่ไม่เท่ากันอยู่แล้ว ถ้าอยากทำอะไรก็ทำไปเหอะ ทำจนกว่าตัวเองจะพอใจ และไม่ต้องไปรู้สึกว่าคำชมมันจะมากำหนดอะไรได้ เพราะคำติชมมันคือความจริง ที่ถูกส่งผ่านมาจากคนอื่น สุดท้ายเรารู้ตัวเราเองดีที่สุด รู้ดีว่าเจตนาตัวเองคืออะไร เราไม่ต้องมองหามันด้วยซ้ำ แค่ลองใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองเป็นเท่านั้นเอง

Secret Facts

‘สองสายวิชวล’ ในอดีตเวลาที่คนแนะนำเราให้กับใครก็มักจะใช้คำพูดนี้ แต่มันก็ไม่แปลก เพราะต่อให้เราใส่ความคิดซับซ้อน มีปรัชญาเชิงลึกซ่อนเอาไว้ งานของเราจะมี visual และ aesthetic ที่จัดจ้านหวือหวาเสมอ ไม่แปลกที่คนจะมองและคิดไปแบบนั้น

สำหรับตัวเราเอง เรามองว่าเรามีความอ่อนไหวมากกว่าภาพภายนอกที่ฉูดฉายสวยงามนั้น เราชอบเล่าเรื่อง ชอบเล่ามนุษย์ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ใช่แค่ผู้กำกับ MV แต่อยากให้มองเราเป็น Film Maker คนหนึ่งเหมือนผู้กำกับท่านอื่น ๆ ในวงการ ซึ่งเอาจริง ๆ เราไม่อยากโดน label (ติดป้าย) ว่าเป็นผู้กำกับสายไหนอีกแล้วนะ ถ้าวันนี้เราทำงานออกมาเป็นหนังตลก คนก็จะเรียกเราว่าเป็นผู้กำกับสายตลก ถ้าพรุ่งนี้งานเราเป็นหนังรักคนจะบอกว่าเราเป็นผู้กำกับหนังรัก เราอยากเป็นแค่ผู้กำกับที่เป็นผู้กำกับมากกว่า

สิ่งที่ทำในชีวิตประจำวันและคนอื่นไม่รู้

อาจจะไม่ประจำวันขนาดนั้นแต่เวลาคิดงานเราชอบเปิดทีวีเป็นบรรยากาศภาพของกล้องที่ติดหน้ารถที่ขับวนอยู่ในอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ในอเมริกา ที่บันทึกเสียงรถและเสียงธรรมชาติที่ขับผ่านไป เปิดวนเป็นชั่วโมง ๆ ได้ นอกจากนั้นเราก็จะเปิดเสียงนกเสียงป่าเสียงธรรมชาติด้วย บางวันก็เปิดเป็นเสียงทะเล เสียงน้ำตก ขึ้นอยู่กับว่าวันนั้นเราอยากได้ยินเสียงอะไร
 
อีกอย่างที่เราชอบเปิดดูตั้งแต่ตอนเรียนแล้ว คือโชว์มิวสิคัลของเซเลอร์มูนตอนปี 1992-1994 เรียกว่า ‘Seramyu’ ซึ่งโปรดักชันมันค่อนข้างเป็นละครเด็กมาก แต่เรายังสามารถเปิดสิ่งนี้ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ หรืออย่างการกลับไปดูการ์ตูนเก่า ๆ ของ Hanna Barbera และ Cartoon Nerwork classics เพื่อคอยดึงตัวเองกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งเสมอ ซึ่งมันแปลกมาก เพราะทุกครั้งที่เรารู้สึกว่าเราหมดแรง หรือ เริ่มรู้สึกไม่ดี เรามักจะกลับไปหาอะไรพวกนี้ดูตลอด
 
ทุกอย่างในวัยเด็กมันทำให้เรามีความสุขมาก นึกถึงตัวเองตอนยังมีฝันแล้วเรากำลังตอบแทนร่างเด็กของตัวเองที่มีฝันอยู่ในวันนั้น ตอนนี้เราไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนแก่ ๆ บางคนถึงยังยึดติดอยู่กับเพลงเก่า ๆ เพราะวัยเด็กของบางคนมันยังเป็นวัยที่ไม่ได้เจอกับความเจ็บปวด เราเองก็เป็นหนึ่งในผู้โชคดีนั้น เลยมีแรงบันดาลใจและพลังใจที่ถูกสร้างจากช่วงเวลานั้นได้เรื่อย ๆ
 

เหตุการณ์ที่สร้างบทเรียนที่ดีให้กับคุณ

ตอนอยู่นิวยอร์กที่ได้ทำหนังเรื่องแรกและในวันที่ฉายรอบพรีเมียร์จะมีการประกวดหาหนังที่ได้รับรางวัลจากกรรมการมาตัดสินรางวัล ผลคือหนังของเราแพ้การประกวด แต่พอลงเวทีมาแล้วมีคนแปลกหน้ามาขอจับมือมากมาย เดินมาบรรยายความรู้สึกในใจให้เราฟัง โดยที่ไม่ได้สนใจว่าสุดท้ายแล้วหนังเราจะได้รางวัลลำดับที่เท่าไหร่ เป็นการสร้างกำลังใจกลับมาและทำให้เรารู้จริง ๆ ว่าสุดท้ายทุกคนชอบและเห็นคุณค่าของทุกสิ่งไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะไปมองว่าความพ่ายแพ้คือความล้มเหลว
 
อีกเรื่องคือเมื่อไม่นานมานี้ มีอยู่วันหนึ่งเรานั่งทำผมอยู่ที่ร้านทำผมของเพื่อน อยู่ดี ๆ ก็มีคนแปลกหน้าจากร้านข้าง ๆ ที่น่าจะเป็นเพื่อนของเพื่อนเข้ามาทักทายเราที่นั่งทำผมอยู่เงียบ ๆ ว่า ‘สวัสดีครับ เราติดตามผลงานอยู่นะ ชอบงานนะครับ’ ลึก ๆ ตอนนั้นมันก็ดีใจเลยแหละ แต่คิดว่าเขาน่าจะหมายถึงงานกำกับแน่เลย แต่เขากลับบอกว่าติดตามผลงานเพลงของเราและชอบมันมาก ๆ โห นี่ถือเป็นครั้งแรกเลยมั้งที่มีคนที่ไม่รู้จักเดินมาต่อหน้าแล้วชมเราตรงนั้นเลยว่าชอบเพลงของเรา มันเหมือนกับว่าเขาชมตัวตนของเราจริง ๆ เพราะงานกำกับอาจจะเป็นตัวเองก็จริงแต่สุดท้ายเรามีปัจจัยที่ต้องตอบสนอง แต่อย่างงานเพลงมันคือตัวตนของเรา 100% พอมีคนมาชมเราแบบนี้ก็ดีใจจนทำตัวไม่ถูกเลย
 

รู้สึกดีใจที่สุดในชีวิตตอนไหน

ดีใจที่สุดมีหลาย ๆ ตอนเลย เพราะทุกโมเมนต์มันเป็นความน่าดีใจหมดแหละ แต่ทุกวันนี้เราจะดีใจและมีความสุขมาก ๆ กับอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นการได้กลับบ้านแบบที่ร่างกายครบ 32 ส่วน ยังปลอดภัยดี ยังตื่นขึ้นมาทุกเช้า ยังโชคดีที่ได้เห็นหน้าพ่อแม่ย่า ยังมีมิตรสหายที่ดี เรื่องพวกนี้คือสิ่งที่ทำให้รู้สึกดีใจมาก ๆ ในทุกวันจริง ๆ
 

สถานที่ที่ชอบที่สุด

เราชอบที่จะนั่งมองความเป็นไปของธรรมชาติธรรมชาติ จะเป็นสวนสาธารณะที่ไหนก็ได้ ถ้าเป็นนิวยอร์กเราชอบไป Washington Park หรือ Central Park และเราชอบการได้ไป road trip ที่แคลิฟอเนียใต้ เราชอบพวกอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ที่เป็นธรรมชาติ ชอบความรู้สึกตัวเล็กของตัวเองที่ได้ไปอยู่ตรงนั้น 
 

สีที่ชอบที่สุด

สีที่ชอบมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้ถ้าชอบที่สุดคงจะเป็นสีม่วงอมแดงคล้าย ๆ กับสีไวน์ ความจริงเราไม่ได้ชอบสีไหนเป็นพิเศษ แต่แค่รู้สึกว่าตอนเด็กไม่เคยกล้าพูดออกมาว่าชอบสีม่วง เพราะกลัวโดน judgemental (ตัดสิน) จากสังคมว่าเราเป็นเพศอะไร ทำให้ในตอนนั้นเราไม่ชอบสีม่วงไปเลย แต่ทุกวันนี้เราชอบสีม่วงไม่ว่าจะ shade ไหนชอบทั้งหมด อาจเพราะเราชอบดื่มไวน์ด้วย

EXPLORE MORE