Intangible Bar - PASSION BRUNCH

วัตถุดิบท้องถิ่นที่ถูกนำเสนอจากการผสมผสานเรื่องราวลงในเครื่องดื่ม โดยคุณคีย์-ภาคี ภู่ประดิษฐ์ จาก Intangible bar บาร์เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์จากเชียงใหม่

ความตั้งใจของผมคืออยากจะให้ Intangible Bar เป็น Social Enterprise (ธุรกิจเพื่อสังคม) แต่ในตอนนี้เรายังไม่ได้ไปถึงจุดที่จะขอทำเรื่องอย่างเป็นทางการ เราเพียงแต่ใช้ปรัชญาและแนวคิดของธุรกิจเพื่อสังคมในการดำเนินการร้านเท่าในตอนนี้ เพราะสิ่งที่เราทำคือการเอาวัตถุดิบจากชุมชนต่าง ๆ ที่มีการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อินทรีย์มาตีความเป็นเครื่องดื่มแต่ละแก้ว 

ร้าน Intangible เกิดขึ้นได้ยังไง

จุดเริ่มต้นของร้านมีที่มาจากหลากหลายองค์ประกอบที่โยงเข้ามาในจุดเดียว โดยเริ่มต้นจากการที่ผมเป็นบาร์เทนเดอร์ที่เลิกดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงแรกที่ผมเลิกดื่มแต่ยังคงต้องทำงานอยู่ ผมใช้วิธีชิมเครื่องดื่มก่อนที่จะเติมแอลกอฮอล์เข้าไป แต่มันทำให้ผมไม่สามารถรับรู้รสชาติได้ 100% เหมือนกับที่ลูกค้าได้รับ ฉะนั้นการพัฒนารสชาติและฝีมือมันเลยถึงทางตัน 
 
จุดที่สองคือการมองหาและทดลองวัตถุดิบทางเลือกใหม่ ๆ ที่มากขึ้น และพอยิ่งศึกษามากขึ้นมันทำให้เข้าใจว่าวัตถุดิบแต่ละตัวมันมีวงการของมัน กาแฟก็มีวงการของกาแฟ บะหมี่ก็มีวงการของแป้ง ผักก็เช่นกัน ทุกอย่างมีความลึกในตัวมันเองและวงการของมัน
 
ผมเลยเริ่มคิดอยากจะนำวัตถุดิบเหล่านั้นมาตีความเป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ มันจะไม่ใช่ Mocktail ที่ทำมาเพื่อเป็นเครื่องดื่มแก้ขัดให้กับค็อกเทลทั่วไป มันเหมือนกับว่าเราได้ใส่สปิริตใหม่เข้าไปในเครื่องดื่ม ซึ่งสำหรับนักชงทั่วไปสปิริตมันคือแอลกอฮอล์ แต่ของผมมันคือวัตถุดิบ ในตอนแรกมันก็ไม่ชิน เพราะมันเคยชินกับหยิบขวดบางอย่างมาใช้ที่ได้รสชาติของแต่ละชนิดของแอลกอฮอล์ พอได้มาทำเองผมจึงจำเป็นต้องไปถึงต้นตอของวัตถุดิบ
Image © Intangible Bar

ความรู้ที่ได้จากการทานอาหารมันก็สามารถเติมเต็มความรู้สึกได้มากกว่าแค่การอิ่มท้อง

พอเราเริ่มเข้าหาวัตถุดิบที่ลึกขึ้น ผมเริ่มต้องไปเจอกับคนปลูกและแหล่งที่มา ได้เข้าไปเจอวิถีชีวิตของชาวบ้าน ได้เจอส้มที่เป็นส้มเหมือนกัน แต่อันหนึ่งออร์แกนิก อันหนึ่งไม่ใช่ บางทีรสชาติมันไม่ได้ต่างมาก แต่ที่มาและวิธีการมันต่างกันสุดขั้วเลย หลังจากนั้นผมก็เริ่มอินกับของพวกนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ 
 
ก่อนจะเริ่มสะสมทุนทรัพย์ตัวเองมาเปิดร้าน Non-alcoholic cocktail bar ด้วยการใช้วัตถุดิบชุมชน เราศึกษาและมีความตั้งใจอยากจะช่วยเหลือชาวบ้าน ช่วยเหลือธรรมชาติ มันอาจจะไม่ใช่อะไรที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่เป็นการทำให้สิ่งเหล่านี้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
 
จากการที่ผมทำงานสายนี้มาผมเข้าใจว่าบางทีใจความและวัตถุประสงค์ที่ลูกค้าอยากจะได้ มันอาจจะไม่ใช่แค่ความอิ่มท้อง หรือการทานอาหารเพื่อสุขภาพ แต่บางทีประสบการณ์หรือความประทับใจที่มาจากข้อคิดดี ๆ มุมมองใหม่ ๆ ความรู้ที่ได้จากการทานอาหารมันก็เติมเต็มความรู้สึกลูกค้าได้ค่อนข้างมากเช่นกัน บางทีมันอาจจะมีประโยชน์ในการใช้ชีวิตของเขาและเราด้วย 
 
บางครั้งการที่เรานั่งคุยกับใครสักคน แค่เวลาสั้น ๆ มันอาจจะทำให้เราได้อะไรไปใช้ชีวิตตัวเองก็ได้ อย่างตัวผมเองเนื้อเรื่องที่เราอยากจะถ่ายทอดออกไปอาจจะเกิดประโยชน์กับใครบางคนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทุกคนก็ได้ แต่ถ้าบางคนรู้สึกถึงมันได้แล้วมันน่าจะดี เหมือนกับชื่อร้าน Intangible ที่แปลว่าจับต้องไม่ได้ 

เจตจำนงของ Intangible Bar

ผมอยากให้เครื่องดื่ม Non-acoholic cocktail เป็นที่ยอมรับมากขึ้นและถูกพูดถึงในระดับโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ตอนนี้ทั่วโลกเริ่มมีคนสนใจเครื่องดื่มประเภทนี้มากขึ้นแล้ว ผมไม่ได้หมายความว่าจะตัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกไปเลย แต่เป็นเครื่องดื่มทางเลือกที่ทำจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนและสามารถทำให้คนอินไปกับการสร้างสรรค์เครื่องดื่มได้เหมือนเวลาเราอินกับวัตถุดิบหนึ่งและสร้างมันขึ้นมาเป็นอาหารจานหนึ่ง 
 
ผลกระทบในวงกว้างที่จะเกิดขึ้นจากการทำธุรกิจแบบนี้ มันคงจะเกิดผลประโยชน์เยอะมาก ๆ กับชุมชน แม้ว่าตอนนี้สิ่งที่ผมทำมันอาจจะยังเป็นแค่ก้าวเล็ก ๆ ที่ทำงานร่วมกับชุมชนที่ผมได้เข้าไป ถ้าสมมุติมันมีร้านแบบเราไปโผล่อยู่ที่ต่างประเทศ มันก็คงจะเข้าไปสนับสนุนและช่วยชุมชนในพื้นที่ตรงนั้น ถ้ามันมีร้านเล็ก ๆ แบบเราเพิ่มมากขึ้นทั่วโลกจากสิบที่เป็นร้อยที่ เรื่องเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องปกติที่คนทำกัน ซึ่งจะต้องสร้างประโยชน์อย่างแน่นอน เลยอยากให้มันเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

มันไม่ใช่แค่แพสชัน แต่เรารู้ว่าเราอยากจะตื่นมาทำมันในทุกวัน

แรงผลักดันที่ทำให้เกิด Intangible Bar

ความจริงร้านนี้มันเป็นเหมือนดีเทลในชีวิตผมอยู่แล้ว ทุกรายละเอียดมันมีความหมายและจุดเปลี่ยนของมัน ถ้าถามว่าอยากแชร์อะไรคงเป็นเรื่องการหาความหมายในการดำเนินชีวิตมั้งว่าทำไมเราต้องตื่นมาทำงานนี้ เวลาที่เราอยากทำจริง ๆ มันไม่ใช่แค่แพสชัน แต่มันจะเกิดความรู้สึกว่าเรารู้ว่าเราอยากทำมันเราเลยตื่นขึ้นมาในทุกวัน 
 
ในการเปิดร้านมันไม่ใช่ว่าวันหนึ่งผมตัดสินใจเลิกดื่มแอลกอฮอล์แล้วผมเลยออกมาทำ ฝึกอยู่วันสองวันแล้วอีกเดือนมาเปิดร้าน มันไม่ใช่แบบนั้น ผมมองเห็นว่างานที่ผมทำอยู่มันกำลังจะหายไปจากการตัดสินใจเลิกดื่ม ตอนนั้นเลยผมตัดสินใจใช้เก็บเงินก้อนหนึ่งเพื่อการเปิดบาร์นี้ ผมก็เริ่มทำตอนที่ผมยังไม่มีอะไรเลย แม้แต่เงินเลี้ยงชีพตัวเอง พอทำไปได้สักพักหนึ่งก็เริ่มมีคนยอมรับมากขึ้นเอง

ถ้ามันไม่ได้สร้างกำไร เลี้ยงชีพไม่ได้ เลี้ยงลูกน้องไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะทำ

ประสบการณ์ที่อยากแชร์ระหว่างโปรเจกต์

ในตอนแรกของการทำร้านผมกลัวลูกค้าจะเบื่อเรื่องราวของตัวร้านและการเล่าถึงวัตถุดิบที่ผมใช้ แต่พอได้เปิดร้านมันได้ผลตอบรับที่ดีมาก ซึ่งผมดีใจมากที่ได้ทำ ได้เล่าเรื่องราวและถ่ายทอดความรู้สึกของเราออกไปให้ลูกค้าได้รับรู้ และเป็นประโยชน์กับลูกค้าได้ด้วย
 
ที่สำคัญ Intangible Bar ถูกสร้างขึ้นมาให้ทำประโยชน์ แต่มันก็ต้องกำไรด้วยนะ เพราะถ้ามองในฝั่งของธุรกิจถ้ามันไม่ได้สร้างกำไร เลี้ยงชีพไม่ได้ เลี้ยงลูกน้องไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะทำ มันจะไม่เกิดความยั่งยืนในการทำธุรกิจ ทีนี้ความตั้งใจของเราและการนำวัตถุดิบที่ชาวบ้านต้องการเอามาถ่ายทอดมันก็จะหายไปด้วย
 
การที่ผมได้ใช้วัตถุดิบจากชุมชนมากขึ้นมันสร้างให้วัตถุดิบหลายอย่างติดตลาดได้ จนผมเริ่มกลายเป็นเหมือนจุดกระจายสินค้าขนาดเล็ก ๆ ที่หนึ่งที่ทำให้คนได้รู้จักกับผู้ประกอบการเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้หลายคนที่สนใจเข้าไปสามารถทำการซื้อขายกับชาวบ้านต่อจากผมอีกที ผมไม่ได้ทำตัวเป็นพ่อค้าคนกลาง แต่สิ่งที่ผมพยายามทำคือการให้ช่องทางการติดต่อของชาวบ้านให้กับผู้ซื้อเท่านั้นเอง ให้เกิดการซื้อขายระหว่างกันและสร้างรายได้กันยาว ๆ นี่คือจุดที่ทำให้ผมแฮปปี้
Image © Intangible Bar

ช่วยแชร์ประสบการณ์ที่ทำให้เราได้เข้าไปกับชุมชนพื้นบ้าน

ในการจะเข้าถึงคนในชุมชนมีทั้งยากและง่าย ผมโชคดีที่มีคนนำเข้าไป เพราะตอนที่ผมทำงานเป็นที่ปรึกษาและได้ออกงานอีเวนต์ทำให้ได้รู้จักกับคนที่มีความรู้เรื่องแหล่งวัตถุดิบแล้วขอให้เขาพาเข้าไปในชุมชน 
 
คนที่พาผมเข้าไปจะมีทั้งหมดสามกลุ่ม กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เขาทำงานกับชุมชนโดยตรงอยู่แล้ว และค่อนข้างสนิทกับชาวบ้าน ถ้าเข้าไปด้วยตัวเองอาจจะยากกว่า เพราะมันไม่ใช่สถานที่ที่อยู่ดี ๆ จะเข้าไปได้ มันเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ชัดเจนและเดินทางค่อนข้างลำบาก ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ผมเจอเขาน่ารักมากนะ ปัญหาคือเขาอยากขายของที่เป็นวัตถุดิบชุมชนพื้นบ้าน แต่เขาไม่สามารถขายเองได้ นาน ๆ ทีเท่านั้นที่เขาจะขับรถเข้าเมืองไปเพื่อนำของไปขาย ซึ่งเขาเองก็ไม่รู้อีกว่าเขาต้องเอาอะไรไปขายบ้าง เขาเลยหยิบเฉพาะสิ่งที่คนในเมืองรู้จักเข้าไปขาย แต่ความจริงแล้วเขามีของดีประจำพื้นถิ่นมากกว่านั้น พืชพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิมต่าง ๆ เป็นวัตถุดิบที่ใช้งานได้ ยิ่งเราได้กินข้าวกับเขาเรายิ่งรู้ว่าเขามันยังไง มีวิธีการต่อวัตถุดิบนั้นยังไง มันทำให้เราเข้าใจวัตถุดิบมากยิ่งขึ้นด้วย
 
กลุ่มที่สองคือกลุ่มอาจารย์ที่เขาทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพราะอาจารย์เขาจะมีการทำทีสิสและศึกษาเพื่อทำงานวิจัยเกี่ยวกับวัตถุดิบพวกนี้อยู่แล้ว เขาสามารถบอกเราได้ว่ามันมีอะไรบ้างและพาเราเข้าไปรู้จักวัตถุดิบนั้นด้วยกัน
 
กลุ่มสุดท้ายคือเชฟ ซึ่งจริง ๆ เชฟเขาก็เข้ามากับสองกลุ่มก่อนหน้านี้เหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ถ้าเราไปกับกลุ่มเชฟมันจะสนุก เพราะมันจะมีความลุย ๆ และมีการพูดคุยกันถึงรสชาติและลองกินนู่นกินนี่ หยิบนู่นนี่กันสนุก กลุ่มเชฟถือว่าเป็นกลุ่มที่มีประโยชน์สำหรับชาวบ้าน เพราะถ้ามีคนที่ทำอาหารเป็นเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านจะเข้าใจมากขึ้นและได้ความรู้ว่าเขาจะสามารถเอาอะไรไปขายได้อีก มันทำให้เขากล้าจะทำวัตถุดิบเฉพาะเข้ามาขายในตลาดมากขึ้น ถ้ามีคนมาถามว่าอันนี้อะไร เขาก็จะสามารถบอกได้ว่าเอาอันนี้ไปทำอันนี้นะ เขาทำกันแบบนี้

ถ้าถามว่าจะเข้าหาวัตถุดิบในชุมชนยังไง ผมว่าเริ่มต้นวิธีที่ง่ายที่สุดคือชุมชนตลาดเกษตรอินทรีย์ เวลาที่เอาของชุมชนเข้ามาขายเนี่ยลองเข้าไปซื้อและพูดคุยกับชาวบ้านดูก่อน เพราะตลาดประเภทนี้เป็นตลาดที่พัฒนาชุดความคิดมาประมาณหนึ่งแล้ว และใช้แนวคิดการดูแลสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ฉะนั้นเขาจะเปิดกว้างในการถามถึงที่มาที่ไปหรือการเข้าไปดูแหล่งผลิต เพราะเขาต้องการที่จะต่อยอดด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ฉะนั้นมันจะไม่มีความลับอะไรขนาดนั้น

ในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มมันจะต้องไม่ฝืนธรรมชาติจนเกินไป ถ้าไม่มีก็จะสามารถใช้อย่างอื่นได้

มีความคิดเห็นกับวงการยังไง

ผมขอพูดในวงการของอาหารและเครื่องดื่มละกัน ผมมองว่าอยากให้เราได้สร้างคุณค่ากับวัตถุดิบที่มีใกล้ตัวให้มากขึ้น จริงอยู่ที่ทุกวันนี้เราโชคดีที่มีคนใส่ใจเรื่องวัตถุดิบธรรมชาติและชุมชนมากขึ้น เพราะมันสามารถต่อยอดไปถึงการสื่อสารกับผู้บริโภคด้วย แต่มันไม่ได้แปลว่าทุกคนจะต้องเข้มข้นขนาดที่ว่าต้องเป็นวัตถุดิบชุมชนเท่านั้นและทั้งหมด ถ้าไม่ใช่วัตถุดิบชุมชนจะไม่ใช้เลย ผมว่ามันไม่ต้องขนาดนั้น ทุกประเทศมีวัตถุดิบจากในพื้นที่ของตัวเองทั้งนั้น ความหมายของคำว่า Local ที่แท้จริงคืออะไร เวลาที่เราซื้อแล้วเอามาใช้ มันเป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้นไหม พืชพรรณไม่สูญหาย ธรรมชาติตรงนั้นมันดีหรือแย่ลงบ้างไหม มันต้องไม่ฝืนธรรมชาติที่เป็นอยู่ของมัน 
 
ตัวอย่างเช่น สตรอว์เบอร์รีเป็นผลไม้ที่ไม่ได้ออกผลผลิตได้ทั้งปีโดยธรรมชาติ แต่ถ้าเราอยากกินสตรอว์เบอร์รีในฤดูร้อนเราต้องได้กิน แบบนี้มันเกิดการฝืนธรรมชาติเพราะผู้ผลิตเองก็ต้องการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ต้องมีการใช้สารเคมี ใช้ยาต่าง ๆ เพื่อให้มันเกิดผลผลิตนอกฤดูกาลให้กับเรา ผมมองว่าปัญหานี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน 
 
ในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มมันจะต้องไม่ฝืนธรรมชาติจนเกินไป ผมเชื่อว่าเราสามารถที่จะสื่อสารและให้ความรู้กับลูกค้าเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันว่ามันไม่ใช่ฤดูกาลของตัววัตถุดิบบางชนิด ถ้าไม่มีก็จะสามารถใช้อย่างอื่นได้ และในกรณีที่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ผมคิดว่าเราควรมองไปที่รายละเอียด มันมาจากไหน ถ้าสมมุติเรานำเข้ามาจากเกษตรกรอินเดีย แล้วการใช้วัตถุดิบนี้มันช่วยส่งเสริมระบบธรรมชาติของอินเดียด้วยก็ถือว่าเป็นโลคอลซัปพอร์ต
 
ถ้าเราไปฝืนเพิ่มยอดขายมากเกินไปจนกลายเป็น Mass production (ผลิตเป็นจำนวนมาก) ในรูปแบบที่ฝืนธรรมชาติมันจะสร้างผลกระทบเหมือนกัน อย่างเคสตับห่านที่ตับของห่านจำเป็นที่จะต้องถูกทำให้บวม การกระทำที่ทำจนห่านมันป่วยและต้องฝืนเลี้ยงจนมันเป็นขนาดนั้นไม่น่าใช่เรื่องที่ถูกต้องทางธรรมชาติเท่าไหร่ และยังมีอีกหลายเคสบนโลกนี้ เช่น สับปะรดหัวหอม มันคือเคสเดียวกันหมด 

เคยแชร์เรื่องเหล่านี้กับเพื่อน ๆ ในวงการไหม 

ความจริงแล้วมันมีกลุ่มร้านอาหารที่พยายามส่งเสริมวงการของโลคอลค่อนข้างเยอะ แต่ในทางคู่ขนานฝั่งธุรกิจเชิงพาณิชย์ก็ยังพัฒนาไปเรื่อย ๆ เหมือนกัน เพราะในเชิงอุตสาหกรรมถ้าอยากจะให้เสกอะไรขึ้นมาก็เรียกว่าเสกได้ทุกอย่าง สำหรับวงการเชฟผมว่าเราเริ่มมีความตื่นตัวเยอะขึ้นมากจากเมื่อก่อน ส่วนหนึ่งคิดว่าน่าจะเป็นอิทธิพลจากเมืองนอกซะเยอะ เพราะกระแสนี้มันเกิดขึ้นทั่วโลก สำหรับร้านอาหารที่เป็นเชฟเทเบิลและไฟน์ไดนิงส่วนใหญ่จะมีการเน้นเรื่องนี้อยู่แล้วกว่า 70-80% ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่อุตสาหกรรมของเชฟ 
 
ผมเองไม่ได้เป็นแอนตี้ Mass production นะ เพราะผมเข้าใจว่ามันยังมีอีกหลายคนที่เขาไม่ได้มีกำลังมากพอที่จะเลือกซื้อของเหล่านี้ เราต้องเข้าใจก่อนว่าอย่างตัวเราเองเลือกได้ แต่ในโลกนี้มันยังมีคนอีกหลายคนที่เขาเลือกไม่ได้ เขาจำเป็นที่จะต้องอยู่ไปตามสถานะตัวเอง ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง ตลาดเชิงพาณิชย์ช่วยชีวิตพวกเขาไว้ด้วยซ้ำ ผมว่าถ้าแค่มีความเข้าใจเล็ก ๆ ในฝั่งของธรรมชาติก็น่าจะทำให้วงจรมันไปได้ไกลและพัฒนารูปแบบให้ได้ดียิ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

โปรเจกต์ที่อยากแนะนำให้รู้จัก

อยากแนะนำให้รู้จักกลุ่มเชฟที่ทำด้วยกันครับ ร้านแรกอยากแนะนำร้าน Blackkitch เขาเป็นเชฟที่บุกบั่นเรื่องการเข้าในพื้นที่ชุมชน คนที่สองที่อยากแนะนำให้รู้จักคือ Made Slowfish เขาชื่อพี่เยาว์ ถ้าพูดคือ Sustainability (ความยั่งยืน) พี่แกโหดกว่าผมเยอะเลย ไม่บริโภคเองเลยแม้แต่นิดเดียว เป็นคนที่เข้มข้นเรื่องนี้มาก
 
ส่วนชุมชนที่อยากแนะนำคือบ้านหินลาดที่จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนที่โด่งดังเรื่องน้ำผึ้ง เขาจะมีเพจที่ชาวบ้านดูแลกันเอง แต่นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของน้ำผึ้งจากที่นี่แล้วยังมีของดีอีกมากมายรอให้คนได้รู้จัก

คำแนะนำสำหรับคนที่กำลังทำโปรเจกต์ส่วนตัว

ทำต่อไปเรื่อย ๆ ครับ อยากให้คิดเยอะ ๆ ในระหว่างที่เราทำมันจะต้องเกิดอะไรขึ้นมากมาย แต่ถ้าแกนมันแข็งแรงพอ มันจะสร้างประโยชน์ต่อผู้คนอีกมากมาย เราต้องมีแกนของความคิดเราก่อนที่เราจะทำ คิดให้ดีก่อนที่จะทำมัน และแน่ใจว่ามันมีเนื้อในจริง ๆ มีผลอยู่ข้างในจริง ๆ นอกจากนี้แล้วมันยังต้องเป็นสิ่งที่เลี้ยงชีพได้และเลี้ยงได้จริง 
 
แม้ว่าเราจะเจออุปสรรคหรือตอนแรกมันอาจจะโตช้ามาก ก็ไม่เป็นไร ให้ทำมันไปเรื่อย ๆ มันจะเริ่มชัดเจนขึ้นแน่ ๆ เราจะเริ่มเห็นหน้าเห็นหลังมากขึ้น แต่สำหรับผม ผมไม่สามารถพูดได้จริง ๆ เพราะบางคนเร็ว บางคนช้า ผมว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ ถั่วงอกมันก็โตแป๊บเดียว แต่ถ้าเป็นลูกลานหรือลูกตาลใช้เวลากว่า 30 ปีกว่าจะออกผล ถั่วงอกตายไปแล้วอาจจะ 30,000 กว่ารอบ ลูกตาลเพิ่งออกผล สุดท้ายแล้วถ้าเราทำไปเรื่อย ๆ มันจะดีเอง 
 
ถ้าเป็นในทางธุรกิจก็อย่าลืมว่าการสร้างกำไรก็ต้องทำมันอย่างยั่งยืนเช่นกัน ถ้าเราขายอาหารตามสั่งลูกค้าอิ่มแต่เราไม่ได้เงิน มันก็ไม่แฟร์สำหรับการเลี้ยงชีพ สิ่งที่ผมพูดคือทุกอย่างต้องได้ผลลัพธ์ที่สมเหตุสมผลทั้งคู่ เพื่อให้ได้อยู่ร่วมทำงานกันไปได้เรื่อย ๆ ยาว ๆ 

Secret Facts

ผมชอบอยู่ในสถานที่ที่ผมชอบและมีเวลากับมัน มัน เหมือนกับคำว่ากาลเทศะ กาลคือเวลา เทศะคือสถานที่ ผมมีความรู้สึกว่าสถานที่ผมอยู่ในเวลาที่ถูกต้องผมน่าจะมีความสุขและชอบที่สุด

สิ่งที่ทำในชีวิตประจำวันที่คนอื่นไม่รู้

จะมีช่วงที่ผมหายไปบวช ไปปฏิบัติธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง ปีหนึ่งอาจจะไปสักสิบวันหรืออาทิตย์หนึ่ง แล้วแต่โอกาสที่ได้ไป มันทำให้ผมมีสติมากขึ้นและทำให้ผมเข้าใจอะไรหลาย ๆ อย่าง หลังจากการปฏิบัติ สำหรับผมมันสำคัญกับผมและไม่เคยคิดจะละทิ้งการปฏิบัติเลย เพราะสิ่งเหล่านี้มันอยู่กับผมตลอดในการใช้ชีวิตประจำวัน เหมือนเป็นภาษาของการดำเนินชีวิตไปแล้ว ถือเป็นส่วนหนึ่งของทั้งตัวผมและร้าน

เหตุการณ์ที่สร้างบทเรียนที่ดีให้กับคุณ

ตอบยากมากเลยครับ ผมไม่ค่อยมีเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยน เพราะทุกเหตุการณ์เป็นบทเรียนที่ดีทั้งหมด 
 
ผมเริ่มอาชีพบาร์เทนเดอร์ตอนที่อายุ 17 ผมเริ่มดื่มและเที่ยวตั้งแต่สมัยนั้นเลย ตอนนั้นผมไม่ได้มีเงินมากขนาดซื้อเหล้ากินได้ทุกวัน ฉะนั้นผมแก้ไขปัญหาโดยการไปทำงานในร้านเหล้าซะเลย แต่ไม่อยากเป็นเด็กเสิร์ฟเลยพยายามเป็นบาร์เทนเดอร์พาร์ตไทม์ ทีนี้นอกจากจะได้กินฟรีแล้ว ยังได้กินราคาถูกอีก แถมยังมีรายได้ด้วย ผมเลยใช้ชีวิตแบบนั้นมาเรื่อย ๆ 
 
เป็นการใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไป ถ้าเทียบกับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน เขาอาจจะเที่ยวกันทุกวัน แต่มันคนละความรู้สึกกัน เขาอาจจะไปเรียน กินข้าว แล้วนัดเพื่อนออกไปสี่ทุ่ม กลับเที่ยงคืน-ตีหนึ่ง แต่ผมมันไม่ใช่เพราะผมทำงานเสร็จปุ๊บนั่งกินต่อ และสังคมที่ผมอยู่ตอนนั้นจะมีมุมมองที่เข้มข้นหน่อย เคยเจอเรื่องแย่ ๆ อยู่บ้าง 
 
ในโลกคู่ขนานของการทำงานผมเริ่มเข้าปฏิบัติธรรม ทำให้ผมอยากที่จะเลิกดื่มเพื่อให้ตัวเองมีสติมากขึ้น พอผมเลิกดื่มมันทำให้ผมเห็นทุกอย่างชัดเจนขึ้นจากปกติเราอยู่ในวงเหล้าเราจะเห็นไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ แต่พอเรามีสติเราเห็นภาพจำชัดเจนและเห็นว่าคนนั้นเป็นยังไง เห็นเวลาใครกำลังตีกัน เห็นว่าใครทำอะไรเป็นยังไง ผมเลยค่อย ๆ ดื่มน้อยลงจนเลิกดื่มในที่สุด
 
จนได้ปฏิบัติธรรมทำให้เราอยู่ในสังคมได้ดีขึ้น จากที่เป็นคนเทา ๆ ดำ ๆ ก็เริ่มสะอาดมากยิ่งขึ้น ทำให้ผมรู้สึกดีกับตัวเองและมักจะทำให้ผมรู้สึกว่าสามารถไปต่อได้เสมอ จนกลายมาเป็นแรงผลักดันในการดำเนินชีวิตจนถึงทุกวันนี้

เรื่องที่ดีใจที่สุดในชีวิต

ตอนที่ได้รับเชิญไปเป็น Speaker ที่งาน Ted Talk ตอนนั้นจะรู้สึกว่าโปรไฟล์นี่เรียกว่าเทียบกับคนอื่นไม่ได้เลย แต่ผมก็ดีใจมาก ๆ เพราะตั้งแต่ผมทำงานในวงการเครื่องดื่มมาก็ยังไม่เคยเห็นบาร์เทนเดอร์ท่านไหนได้ขึ้นไปพูดในงาน Ted Talk มันเลยเป็นความดีใจที่ผมได้ถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ และผมมั่นใจว่าสิ่งที่ทำมันจะเกิดประโยชน์ไม่มากก็น้อย เป็นงานที่ผมไม่ได้เงินแต่รู้สึกมีคุณค่ามาก เพราะมันคือสิ่งที่เราทำและสั่งสมมา หรือแม้แต่การมีคนมาสัมภาษณ์มันก็เหมือนกับมีคนเดินเข้ามาหาเราจากงานที่เราทำอยู่ทุกวัน แค่มีคนที่พร้อมจะสื่อสารให้ผมก็ดีใจแล้ว
 

สถานที่ที่ชอบที่สุด

ผมชอบอยู่ในสถานที่ที่ผมชอบและมีเวลากับมัน ถ้าอยู่ผิดที่ผิดเวลามันก็จะไม่มีความสุข อย่างผมชอบโตเกียว แต่ถ้าหลังเลิกร้านให้ผมบินไปโตเกียวผมคงไม่อยากไป เพราะผมอยากกลับไปนอนที่ห้องมากกว่า หรือถ้าผมได้โอกาสไปสเปนตอนผมอยู่ในห้องน้ำ ผมจะขอเข้าห้องน้ำก่อน มันเหมือนกับคำว่ากาลเทศะ กาลคือเวลา เทศะคือสถานที่ ผมมีความรู้สึกว่าสถานที่ผมอยู่ในเวลาที่ถูกต้องผมน่าจะมีความสุขและชอบที่สุด


สีที่ชอบที่สุด

ผมคิดว่าผมชอบสีขาวและสีดำ สีแดงที่เป็นสีร้านผมก็ชอบ แต่ถ้าให้ตอบสีที่ชอบที่สุดคงตอบยาก เพราะไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นสีที่ชอบที่สุดไหม

EXPLORE MORE