กินตามอัธยาศัย - PASSION BRUNCH

Kintaam คอนเซปต์แซนด์วิชไอศกรีมจากสองพี่น้องคุณน้ำอบและคุณน้ำทิพย์ กับการออกแบบรสชาติและหน้าตาของไอศกรีม ให้มีเรื่องราวและความหมายที่จะสร้างประสบการณ์ที่มากกว่าแค่ขนมหนึ่งชิ้น
Image © Kintaam

ชื่อ Kintaam มาจากไหน

น้ำอบ มาจาก ‘กินตามอัธยาศัย’ โดยเริ่มจาก ‘ขอให้ทุกคนแยกย้ายไปตามอัธยาศัย’ เป็นคำที่พ่อแม่ชอบพูดในครอบครัวเวลาทุกคนกินข้าวและทำกิจกรรมร่วมกัน เรารู้สึกชอบคำนี้มาก คนเราเมื่อใช้เวลาร่วมกันถึงจุดนึงก็ต้องแยกย้ายไปเป็นโลกปัจเจกของตัวเอง มันฟังดูอิสระดี ความหมายของอัธยาศัยเองก็เป็นเนเจอร์ของเราทั้งคู่อยู่แล้ว เลยเอาคำนี้มาใช้ในการทำงานที่ไม่ได้มีอะไรที่เป็นกรอบมากนัก อย่างตอนเด็ก ๆ เราความสนใจและชอบอะไรหลาย ๆ อย่างที่ค่อนข้างกว้าง อย่างเราจะไม่ได้ชอบแค่งานสิ่งพิมพ์อย่างเดียว แต่อาหาร ของกิน หรือไลฟ์สไตล์อื่น ๆ เราก็สนใจเหมือนกัน เราเลยมองว่าเราอยากเป็นคนที่ทำอะไรหลากหลาย

น้ำทิพย์ ขอเสริมอย่างเรื่องของอ้างอิงตามคำว่าอัธยาศัยเพราะได้โจทย์นี้มา มันทำให้เรารู้สึกว่าไอศกรีมจะมีหน้าตาอะไรก็ได้ ไม่ได้เป็นแค่สกู้ปกลม ๆ ซึ่งมันดูจะไปได้ทุกอย่างเลย ยกเว้นการเป็นไอศกรีมธรรมดา
Image © Nakornsang Studio

โปรเจกต์ Kintaam เริ่มขึ้นได้อย่างไร

น้ำทิพย์ ตัวเราเองเรียนฟิล์มมา ตอนเรียนมันก็ได้กระบวนการวิธีคิดในการทำหนัง มีการวางคอนเซ็ปต์ เส้นเรื่อง การเล่าเรื่อง พอเรียนจบมาเรามานั่งคิดว่า นอกจากที่จะนำชุดความคิดที่ได้เรียนมา ออกไปทำเป็นหนังหนึ่งเรื่อง มันสามารถเป็นอะไรที่จับต้องได้อีก และเป็นสิ่งที่สามารถทำได้เอง เพราะถ้าเป็นการทำหนังดูจะยากที่จะทำเองได้ 
 
ช่วงโควิดที่ทุกคนกลายเป็นเชฟทำขนมที่บ้านขายเอง ตัวทิพย์เองชอบทำขนมมานานแล้ว มีทำกินเองอยู่ในบ้านบ้าง หรือแจกเพื่อนบ้าง เลยคิดว่าเราจะขายของกินอะไรก็ได้ที่ใช้คอนเซ็ปต์ แนวคิดเหมือนตอนสร้างงานขึ้นมาหนึ่งงาน ที่เลือกเป็นไอศกรีม เพราะเวลาดูร้านที่เมืองนอก มันดูเป็นขนมที่สามารถเอามาใส่อะไรเพิ่มเข้าไปได้เยอะกว่าพวกคุกกี้ บราวนี่ ที่มีรูปแบบการทำที่ค่อนข้างตายตัว แต่พอเป็นไอศกรีม เรามองว่ามันสามารถเป็นอะไรก็ได้ ไอศกรีมมันคือก้อนไขมันเย็น ๆ ที่มีรสหวานและไม่มีฟอร์มที่ตายตัว เลยใช้ไอติมเป็นมีเดียมหลัก 
 
จริง ๆ ในไทยก็มีร้านไอศกรีมอยู่เยอะ แต่เราก็ยังมองหาอะไรที่มันยังไม่มีในตลาด หากินยากเลยนึกถึงไอศกรีมแซนด์วิช เพราะยังไม่มีคนทำเป็นแบรนด์ไทยจริง ๆ ส่วนมากมักเป็นเมนูที่ซ่อนอยู่ในเมนูอื่นอีกทีนึง เรารู้สึกว่าพอไอศกรีมมันเป็นแซนด์วิชมันมีองค์ประกอบที่เพิ่มขึ้นมา เช่น ขนมปังที่ประกบบนล่าง ที่เราสามารถเอามาเล่นประกอบไปกับตัวไอศกรีม ซึ่งพอได้เริ่มทำเราก็เอาไปเสนอพี่น้ำอบ ช่วยกันชิม ช่วยกันทำ และคิดว่าไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วลองทำแบรนด์ขึ้นมาดูละกัน
 

แรงผลักดันที่ทำให้โปรเจกต์มันสำเร็จ

ต้องแบ่งออกเป็นสองช่วง ช่วงแรกมันเกิดขึ้นจากแพสชัน ส่วนช่วงที่สองคือ การทำให้มันกลายเป็นธุรกิจจริง ๆ ขึ้นมา เพราะแรกเริ่มเลย ไม่ได้มีความตั้งใจว่าอยากจะทำร้านไอศกรีมแซนด์วิชหรือเป็นธุรกิจอะไรอะไรแบบนั้น เริ่มจากความว่างช่วงโควิดและคิดกันฟุ้ง ๆ จนมันออกมา คิดเรื่องการทำของกิน อะไรที่ซื้อขายจับต้องง่าย
 
ในช่วงแรกช่วงกลางปี 2021 ที่มีการบ่นเรื่องรัฐบาล มีม็อบขับไล่รัฐบาลมันเลยเกิดความ ‘อึ้ยยย อยากจะทำอะไรสักอย่าง ทำไรได้มั่งวะ’ พอได้เอาก้อนความคิดมวลนั้นมายัดลงมาในไอศกรีม เราได้ออกมาเป็นไอศกรีมทั้งหมดสี่รส กล้วยผ่อง เย็นเจี๊ยบ ไบรท์จัง ช็อคแสบ เริ่มจาก ช็อคแสบ เป็นรสช็อกโกแลตกับพริก พริกเหมือนการสาบส่งแบบรัฐบาล ‘เฮ้ย มึงออกไป!’ ส่วน เย็นเจี๊ยบ เป็นเหมือนธงชาติไทยตรงเนื้อไอศกรีมที่ถูกแช่ไว้เหมือนประเทศที่ไม่มีการขยับเขยื้อน ส่วน ไบรท์จัง จริง ๆ มันเป็นรสชาติเปรี้ยวเลมอนแต่หน้าตาเป็นสีเทา ตั้งใจจะสื่อถึงรสชาติเปรี้ยวสีเหลืองที่มันอยู่ข้างในมันพร้อมที่จะปะทุออกมา แต่พอทุก ๆ อย่างดูเริ่มมีหวัง เมื่อท่านชัชชาติเป็นผู้ว่าแล้วเราเลยเอา ไบรท์จัง มาเป็นสีเหลืองแทน เรารู้สึกว่ามันไม่มีผิดถูก และเราปรับไปตามสถานการณ์ไปเรื่อย ๆ เหมือนเราอยากทำอะไร เราก็ทำด้วยแรงที่อยากทำออกมา มันก็ถือเป็นสเตจแรกของพวกเรา จนพอมาถึงครึ่งปีหลัง เราเริ่มมาคิดในเรื่องของกำไรมากขึ้น มากกว่าการเป็นแค่โปรเจกต์สนุก ๆ 
 
เรื่องธุรกิจถือเป็นโจทย์ชิ้นใหญ่สำหรับพวกเราเหมือนกัน เราเองต่างเรียนเกี่ยวกับศิลปะและออกแบบมา ซึ่งไม่มีอะไรที่สอนเกี่ยวกับการทำเงินเลย อยากจะท้าทายตัวเองทำให้สิ่งนี้ให้มันหาเงินได้จริง ๆ เริ่มลองมองหาโมเดลธุรกิจ และลองผิดลองถูกกับมันอย่างเต็มที่ นี่คือหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่อยากจะเลี้ยงตัวธุรกิจและตัวเองไปพร้อมกัน ซึ่งคุณแม่ของพวกเราก็เข้ามาช่วยมาเป็นแรงผลักดันตั้งแต่เริ่ม เป็นเหมือนมือขวาที่เข้ามาช่วยบอกว่า ‘มึงต้องทำมัน และต้องออกมาจนมันก็เริ่มอยู่ได้จริง ๆ’ 
 
ตอนนี้เราก็ยังอยู่ในสเตจของการลองผิดลองถูกไปเรื่อย จุดคิกออฟแรกมันก็คือแรงแห่งการสร้างสรรค์ แต่พอมันออกไปแล้ว เราต้องมาโฟกัส ว่าสามารถจัดการยังไงให้มันเป็นกระบวนการมากขึ้น ให้มันเป็นเหมือนรายได้หลักของพวกเราเอง และคิดว่าก็ยังต้องเรียนรู้ไปอีกเรื่อย ๆ

ไอศกรีมมันเป็นเหมือนก้อนระเบิดเวลา พอมันออกจากตู้เย็นก็เริ่มละลายแล้ว มันทำให้เราต้องโฟกัสกับปัจจุบัน ซึ่งก็คือไอศกรีมในมือเรา ต้องจัดการมันให้เสร็จก่อนที่มันจะละลาย เราชอบการที่ไอศกรีมทำให้คนต้องอยู่กับโมเมนต์ ณ ขณะนั้น

Image © Kintaam

ตีความไอศกรีมคล้ายกับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เลยนะ

ต้องเล่าก่อนว่าคุณพ่อพวกเราเป็นศิลปินวาดรูปที่เชียงใหม่ พวกเราก็เลยได้โอกาสเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีคนให้ความสนใจด้านศิลปะเยอะ สำหรับคนทั่วไป ความเป็นศิลปะมันอาจจะไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่ แต่สำหรับพวกเราคือมันเป็นเรื่องที่อยู่รอบตัวจริง ๆ เหมือนกับที่พวกเรามองว่าไอศกรีมมันเป็นเรื่องทั่วไปสามารถเข้าถึงใครก็ได้ เราไม่ได้คิดคอนเซ็ปต์อะไรยาก ๆ แต่มันเป็นแค่การตั้งคำถามอะไรสนุก ๆ ให้คิด เราถ่ายทอดออกมาเป็นไอศกรีมให้คนทุกคน 
 
อีกอย่างเรามองว่าไอศกรีมมันเป็นเหมือนก้อนระเบิดเวลา พอมันออกจากตู้เย็นก็เริ่มละลายแล้ว มันทำให้เราต้องโฟกัสกับปัจจุบัน ซึ่งก็คือไอศกรีมในมือเรา ต้องจัดการมันให้เสร็จก่อนที่มันจะละลาย เราชอบการที่ไอศกรีมทำให้คนต้องอยู่กับโมเมนต์ ณ ขณะนั้น
Image © Kintaam

มีวิธีการทำงานยังไง ก่อนจะมาเป็นคอนเซ็ปต์และรสชาติที่เราเห็นกัน

เราจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกจะเป็นรสชาติของ Kintaam เอง และอีกส่วนที่เป็นการคิดค้นรสชาติสำหรับงาน Collaboration ถ้าออกแบบรสชาติเอง ทิพย์จะเริ่มจากหาแรงบันดาลใจจากการเจอนู่นนี่แล้วก็สเก็ตช์ ในหน้าคอมก่อนเลย เราขึ้นไอเดียออกมาเป็นภาพผ่านโปรแกรมในคอมก่อน ว่าจะให้รสไหนอยากให้เป็นสีไหน แล้วค่อยมาลองทำในครัว สิ่งที่คิดและสิ่งที่ทำมันออกมามันตรงกันไหม เราชิมกันสามคน น้ำอบ แม่ น้ำทิพย์ มีหลาย ๆ ครั้งที่สิ่งที่คิดไม่ได้ออกมาเป็นแบบนั้น ก็อาจจะมีการปรับการลองกันที่หน้าครัวอีกที 
 
น้ำทิพย์เป็นคนเริ่มคิดคอนเซ็ปต์แล้วค่อยมาปรึกษาน้ำอบ เราว่าความสำคัญจริง ๆ คือการคุยกันเยอะมาก ๆ มีการถกกันเพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้น เช่น ปัญหาของรสชาตินี้คืออะไร หรือตอนที่ไปออกบูธเจอปัญหาอะไร พอได้คุยไปเรื่อย ๆ ถึงเวลาตอนทำงานมันจะง่ายมาก เรามองว่าต่างคนต่างมีมุมมองแล้วตรงกลางมันจะเป็นไปได้ในรูปแบบไหน 
 
แม้แต่คุณแม่ก็มีส่วนสำคัญในการออกความเห็น เช่น ‘รสนี้เข้าใจยาก ชิ้นเล็กเกินไปสำหรับการขายในราคานี้’ ในฝั่งคนทำมันมี 10 ก็ให้ 10 แต่พอมาเป็นคนอื่นชิมมันจะมีความเคลียร์มากกว่า อีกคนที่เข้ามาช่วยในตอนท้ายสุดคือ นํ้ามนต์ พี่คนกลางของบ้าน เขาจะเป็นคนค่อนข้าง realistic พยายามช่วยอุดรูไอเดีย ก็จะไปวัดจุดจบกันที่ตรงนั้น หลังจากเราได้ข้อสรุปที่รวมกันในครอบครัวเราก็จะลุยและทำเลย 
 
ส่วนงานในฝั่ง Collaboration หรือ Kintaam.project จะพูดถึงเรื่องโปรเซส ที่นำไปสู่รูปแบบของกินตามอาจจะแค่ไม่ใช่แค่ร้านขาย แต่เราอาจจะเป็นครีเอเตอร์ ให้คาเฟ่หรือแบรนด์ต่าง ๆ เน้นไปในการครีเอตเมนู เราสนุกกันเลยชอบทำ เลยได้ไอเดียที่จะสร้างพื้นที่ตรงนี้เป็นสำหรับการครีเอตรสชาติที่ตอบโจทย์และสนุกตามคอนเซ็ปต์ต่าง ๆ มันคือการทำตามโจทย์ 
 
เช่น มีร้านหนังไก่ทอดติดต่อมา เอามาชิมแล้วจินตนาการว่าควรออกมาแบบไหน ดูมันเป็นของคาวกลัวว่าจะยาก เลยลองเอาอะไรที่เข้าใจง่ายคือ ไก่กรอบไอศกรีมแล้วก็วอฟเฟิล คือเหมือนเราคิดภาพมาประมาณนึง แล้วเราก็ลองไปทำจริงเลย 
Image © Kintaam

อยากให้ช่วยเล่าคอนเซ็ปต์ของไอศกรีมอื่นให้ฟังอีก

อย่างชุดไอศกรีมสีเพี้ยนของทาง Kintaam ตอนที่เราได้ไปหาข้อมูลเราเจอว่าจริง ๆ แล้ว เรื่องสีของอาหารมันเล่นกับจิตใจของเรา เช่น สีแดงมันจะดูหวานมากกว่าสีเหลือง เพราะตามันสร้างความเข้าใจให้ตัวเราก่อนที่เราจะได้รสชาติมัน 
 
สิ่งนี้กลายมาเป็นที่มาที่ไปให้เราทำรสผลไม้ที่มีสีเพี้ยนหมดเลย เช่น สตรอว์เบอร์รีที่ควรจะเป็นสีแดง เราก็ทำให้เป็นสีเหลือง เราอยากรู้ว่าคนจะมาบอกว่ามันหวานน้อยกว่าสตรอว์เบอร์รีธรรมดาที่เป็นสีแดงหรือชมพูไหมนะ? เหมือนกับที่พวกเรามองว่าไอศกรีมมันเป็นเรื่องทั่วไป เป็นอะไรที่สามารถที่จะเข้าถึงใครก็ได้ เลยให้มันเป็นตัวกลางที่ผสมกับคอนเซ็ปต์ลงไป คนที่กินก็อาจจะเข้าใจหรือไม่ก็ได้ ถึงเขาอาจจะไม่ได้เข้าใจในความหมาย แต่ก็สามารถกินและเอนจอยในด้านของรสชาติได้
Image © Kintaam

ช่วยเล่าประสบการณ์ที่ลูกค้าตอบโต้ให้ฟังหน่อย

ส่วนใหญ่ก็จะมาซื้อและทานปกติ จะมีบ้างที่เข้ามาถามเรื่องที่มาของรสชาติ แต่ถือว่าไม่ได้เยอะมาก ส่วนตัวเราเคยคิดว่าต้องเป็นคนที่เข้าใจด้านศิลปะประมาณนึง ถึงจะเข้าใจวิธีการคิดของเรา แต่พอไปเจอลูกค้าที่อาจจะมีอายุห่างกับเรามาก ๆ บางคนเขาเก็ตเรื่องของแนวความคิดทันทีเลยนะโดยที่เราไม่ได้บอก แม้ความเข้าใจของเราและเขาดูจะเป็นคนละยุคสมัยก็ตาม แต่เขาเข้ามาถามเขามามิกซ์รสชาติกับเราแบบสนุกเลย ถือว่าเป็นความประทับใจที่เราได้รู้สึกว่า 
 
สิ่งที่เราพยายามจะสื่อสารมันไปถึงคนที่เราไม่คาดคิดว่าเขาจะเก็ตด้วยซ้ำ แม้แต่ตัวเมนูเขาก็มาตื่นเต้นว่า เฮ้ย สามารถแบบคัสต้อมได้ด้วย เราก็พลอยได้รับพลังงานดี ๆ กับคอนเซ็ปต์ที่ได้คิดมาไปด้วย 
Image © Kintaam

มองทิศทางในอนาคตของ Kintaam เป็นไปในรูปแบบไหน

เรามองว่าเราเองเป็นเหมือนคำว่า ‘ตามอัธยาศัย’  เหมือนเป็นชุดความคิดใน Kintaam เราเองก็ไม่มั่นใจว่าเราจะเป็นร้านขนมในรูปแบบไหน แล้วสิ่งที่เราทำมันเข้าถึงง่ายหรือว่ายาก เราเลยอยากไปลองหลาย ๆ ตลาด พอเราได้ไปเจอลูกค้าในหลากหลายที่มากขึ้น มันทำให้เราได้เห็นตัวเองชัดขึ้นผ่านสายตาลูกค้า เพราะเราแทบจะไปขายเอง 100% ซึ่งเรามีความไม่มั่นใจว่ามันจะเข้าถึงง่ายหรือยากเลยได้ไปลองหลาย ๆ ที่ 
 
จริง ๆ ประสบการณ์สอนให้เราเข้าใจว่ามันบางทีมันไม่ได้เหมือนสิ่งที่เราคิดไปซะทีเดียว อาจจะเป็นการทำไปเรื่อย ๆ ทำไปก่อน หลาย ๆ ครั้งเราต้องใช้สัญชาตญาณเยอะอยู่เหมือนกัน และพวกเราก็เป็นพวก ‘กูไม่รู้ละ กูลองก่อน ลองไปก่อน’ แล้วจะได้คำตอบของอะไรบางอย่างในระหว่างทางที่ได้ไปลองหลาย ๆ ครั้ง มันอาจจะคาดได้คร่าว ๆ ว่ามันน่าจะประมาณนี้ แต่ก็ไม่มีใครสามารถฟันได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ามันจะเป็นยังไง เราก็เลยลองเพื่อให้ได้รู้
Image © Kintaam

คำแนะนำสำหรับคนที่กำลังทำโปรเจกต์

ขอยกคำว่าตาม ‘อัธยาศัย’ มาใช้เพราะสิ่งที่เราว่าดีที่สุดก็คือการเป็นตัวเองตามอัธยาศัย มันคือการที่เราทำไปตามธรรมชาติ แม้แต่เรื่องความเร็วในการทำงาน ไม่จำเป็นต้องอิงว่าเป็นแบบใครมีโรลโมเดลแบบไหนที่ชัดเจน พยายามสำรวจตัวเองว่าธรรมชาติของฉัน มันเป็นแบบนี้แล้ว ฉันก็พยายามจะทำตามที่ฉันเชื่อในตอนนี้ เพราะจริง ๆ ทุกคนมันแตกต่างกันไม่ต้องพยายามที่จะมีเอกลักษณ์อะไรมากมาย แค่ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำมันก็แตกต่างแล้ว 
 
สมมติพรุ่งนี้มีคนอยากทำร้านไอศกรีมแซนด์วิส เราก็ยินดีมาก เพราะสุดท้ายถึงจะมีคนพยายามทำยังไง เราว่ามันก็ไม่มีใครเหมือนกันได้อยู่ดี ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหลักคิดของเราที่อยากให้ทุกคนทำตามธรรมชาติของตัวเอง อาจจะดูกว้างมากเลยนะ แต่อยากให้ทุกคนทำตามอัธยาศัยของตัวเอง ทั้งในแง่ของการสร้างสรรค์และการทำธุรกิจ อยากให้เริ่มจากเป็นตัวเองก่อน แต่ยังอยากให้รับฟังสิ่งที่ต้องเสริมหรือเพิ่มเติมในงานด้วย
Image © Kintaam

Secret Facts

ตอนนั้นคิดว่าถ้าได้รับโอกาสอะไรก็ไปลองดู ทำด้วยความไม่รู้ไปก่อน ยิ่งเราไปเจอคนที่หลากหลายมากขึ้น ยิ่งชัดเจนว่าเราต้องเน้นตรงไหน ขยี้ตรงไหนมากยิ่งขึ้น

ช่วยแชร์ความแตกต่างของแต่ละตลาดจากการลองให้ฟังหน่อย

มีคนติดต่อมาให้ไปขายโซนมาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ภาพในหัวเราคือคนเยอะมากแน่นอน เราตื่นเต้นมาก ๆ ‘เฮ้ย มันต้องขายได้เยอะมากแน่เลย’ แต่ด้วยความที่บูธของเราอาจจะไม่ได้โฆษณาตัวเองมาก ไม่ได้เป็นบูธที่มองแล้วเห็นเลยว่าขายอะไร ตอนที่ไปขายก็ได้เห็นสายตาที่ลูกค้ามองกลับมาที่เรา มันต่างกันกับตอนที่เราไป Bangkok Design Week หรือ Flea Market ที่มันจะเป็นตลาดเฉพาะทาง ยิ่งเราไปเจอคนที่หลากหลายมากขึ้น เรายิ่งชัดเจนว่าเราต้องเน้นตรงไหน ขยี้ตรงไหนมากยิ่งขึ้นในจุดที่เรามองว่ามันคือข้อดีของเรา 

 

การออกบูธมันเหนื่อยมากเลยนะ ยกของ สแตนด์บาย เจอคน วันนึงเป็นสิบชั่วโมง แต่ถ้ามันอยู่ถูกที่ มันก็อาจจะไม่รู้สึกเหนื่อยเท่ากับไปอยู่ผิดที่แล้วแบบบั่นทอนตัวเอง เหนื่อยทั้งกายและจิตใจ มันยิ่งชัดว่าฉันจะเอาแรงไปลงในจุดที่แฮปปี้และหลีกเลี่ยงจุดที่ไม่ใช่
 

ตั้งแต่เริ่มโปรเจกต์มารู้สึกว่าทำได้ตามที่คิดไว้ไหม

เพิ่งคุยเรื่องนี้กันไปเพราะเดือนนี้เป็นครบหนึ่งปีพอดี ถ้าถามจากวันแรกที่เริ่มก็ไม่คิดว่าจะมาถึงจุดนี้เพราะตอนแรกเราทำเอามันส์ไปก่อน
 
น้ำทิพย์ ตอนนั้นก็รับฟรีแลนซ์อยู่ ทำแค่ในช่วงที่ว่างจากงาน แต่พอได้เริ่มทำไอศกรีม มันรู้สึกสนุกอะ อยากไปเรื่อย ๆ อยากหาโจทย์ใหม่ให้มันมีไปได้อีก จากที่คิดว่าไม่ได้อะไรเลย มันเลยจุดนั้นมันก็มาไกลมาก แต่พอมันเปลี่ยนความคิดว่าเราเริ่มจะจริงจังกับมัน มันก็มีหนทางที่จะไปต่อได้อีกเยอะเลย 
 
ทุกวันนี้ก็เราทำไอศกรีมกันเองอยู่ พอช่วงเวลาที่ทำเสร็จออกมาก็จะบอกแม่ว่า ‘นี่เรามาทำอะไรกันอยู่’ ประมาณว่าเรามาถึงจุดนี้ได้ไง เหมือนจริง ๆ ในตัวคน ๆ นึงมันทำอะไรได้เยอะมากเลยเนอะ แบบทำได้ทุกหน้าที่ ๆ ไม่เคยทำ มันก็จำเป็นต้องทำให้ได้เพราะต้องทำเอง 
 
น้ำอบ สำหรับน้ำอบคิดว่าเป็นเรื่องที่ความคิดว่าคนที่เก็ตเรามันน่าจะประมาณนี้แหละเป็นคนตามที่เราคิด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเราทำงานออกแบบมา แต่พอได้ไปออกบูธ กลับเจอคนที่เราไม่เคยคิดเลยว่าเขาจะเข้าใจ ก็รู้สึกดีใจและเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่เราได้เจอคนที่เราไม่เคยคิดว่าคนจะเข้าใจเรา มันทำให้เห็นว่าบางทีการที่เราทำด้วยความเป็นตัวเองที่ไม่คิดเลยว่าจะมีคนเข้าใจ แต่มันดันมีคนเข้าใจ ซึ่งเป็นอะไรที่เกินคาดและเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับเรา
 

สถานที่ในตอนทำงานที่ชอบที่สุด

น้ำอบ คือ Kitchen Studio กำลังก่อสร้าง เราก็ไม่ได้จำกัดแค่ครัวเนอะ แบบมันคงดีที่มีคนแวะเวียนมากินแล้วเขาอาจจะได้พลังงานในความครีเอทีฟจริง ๆ พลังงานนั้นอาจจะเป็นไอศกรีมหนึ่งชิ้นก็ได้
 
น้ำทิพย์ ชอบโมเมนต์ในตอนทดลองรสใหม่ถือว่ามันสนุกสุดแล้ว อันนี้ได้หรือไม่ได้ มันก็เหนื่อยตอนที่หาว่าอะไรคือใช่ เพราะมันไม่มีที่สิ้นสุด แต่ก็สนุกเวลาที่ได้รู้ว่ามือกับสมองมันได้สัมพันธ์กันจริง ๆ ก็ตื่นเต้น
 

ในระหว่างทำ Kintaam ตอนไหนที่รู้สึกดีใจที่สุด

น้ำอบ คือครั้งแรกที่มี Rider มารอรับออเดอร์ที่หน้าบ้าน รู้สึกดีใจมากทำให้รู้สึกว่ามันเริ่มขึ้นแล้ว
 
น้ำทิพย์ รู้สึกตอนที่อยู่หน้าคอมมันเหมือนทุกอย่างกำลังจะเกิดขึ้นแล้วแบบกำลังจะเกิดสิ่งใหม่ ๆ
 

ช่วยแชร์สีที่ชอบพร้อมเหตุผล

น้ำทิพย์ ชอบสีเหลือง
 
น้ำอบ ชอบสีส้ม มันรู้สึกกระปรี้กระเปร่าสดใสเติมน้ำตาล

EXPLORE MORE