Sauce Coffee - PASSION BRUNCH

Sauce Coffee แบรนด์กาแฟที่เกิดขึ้นจากบทสนทนาระหว่างพลอย–ผกาวัลย์ ติรไพโรจน์ และเพื่อน–รตา วงศ์บุษราคัม ในห้องนั่งเล่น กับความคิดที่อยากผลักดันและพัฒนาการผลิตกาแฟให้มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และส่งต่อความรู้นี้ออกไปยังผู้คนที่ชอบบริโภคกาแฟ
Image © Sauce Coffee

แนะนำตัวทีม Sauce Coffee

พลอย–ผกาวัลย์ ติรไพโรจน์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Sauce Coffee ดูแลในส่วนของการผลิตเป็นหลัก เราคลุกคลีอยู่ในวงการกาแฟได้ประมาณ 10 ปีแล้ว เริ่มต้นจากการเป็นบาริสต้าจนได้มีโอกาสเข้าสู่วงการ Specialty Coffee และเป็นบาริสต้าเทรนเนอร์ จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานเกี่ยวในวงการกาแฟมา นอกจากจะได้ทำงานกับลูกค้าแล้วเรายังได้ใกล้ชิดกับผู้ผลิตกาแฟด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกอยากเล่าให้ผู้บริโภคเข้าใจไปถึง Sustainability Management in Coffee (การจัดการกาแฟเชิงยั่งยืน) เพื่อให้เข้าใจว่าในระบบนี้มีคนเบื้องหลังที่ทำเรื่องนี้อยู่
 
เพื่อน–รตา วงศ์บุษราคัม อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งร่วมของ Sauce Coffee ดูแลในส่วนครีเอทีฟและแบรนด์ ความจริงก่อนที่จะเข้ามาสู่วงการกาแฟ แรกเริ่มเราเรียนจบบัญชีและทำงานเป็นออดิเตอร์ แต่ในระหว่างนั้นก็อยากลองทำงานพาร์ตไทม์ที่ร้านกาแฟด้วย ทำอยู่ได้หนึ่งปี หลังจากนั้นเริ่มสนใจเรื่องานออกแบบจนได้ไปทำเป็นกราฟิกอยู่ที่แบรนด์กาแฟแห่งนึง ทำให้ได้เจอกับพี่พลอย และสุดท้ายได้ทำแบรนด์นี้ร่วมกัน

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์

เพื่อน-ในตอนที่เป็นเพื่อนร่วมงานกันที่ทำงานเดิมเรามีโปรเจกต์ภายใต้แบรนด์ที่ถูกล้มเลิกไปเนื่องด้วยข้อจำกัดบางอย่าง แต่เราทั้งสองคนยังมีความรู้สึกติดค้างและอยากทำให้มันเกิดขึ้นจริงมาก

พลอย-ในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโควิด มันทำให้เราเกิดความกลัวที่ว่า ‘เฮ้ย พรุ่งนี้เราอาจจะติดโควิดแล้วตายเลยก็ได้นะ’ เลยเกิดความรู้สึกเสียดายขึ้นมา ว่าจะไม่ได้ทำโปรเจกต์นั้น เราเลยเริ่มคุยกันว่าอยากต่อยอดโปรเจกต์นั้นต่อ ทำให้เลยตัดสินใจเริ่ม Sauce Coffee ขึ้นมา

Image © Sauce Coffee

เราต้องการที่จะบอกเล่าข้อมูลให้คนได้เข้าใจว่าสิ่งนี้คืออะไร มันเกิดขึ้นด้วยวิธีไหน ผ่านการ Process มาอย่างไร โดยที่เราพยายามที่จะให้ลูกค้าเป็นคนตัดสินใจเองว่าเขาโอเคกับสิ่งนี้ไหม

เจตจำนงของ Sauce Coffee

พลอย-เราอยากสนับสนุนแนวคิดเรื่อง Economic Sustainbility in Coffee Industry (ความยั่งยืนเชิงเศรษฐกิจของวงการกาแฟ) เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจกับสิ่งที่เขาได้กินมากขึ้น เพราะการที่เขาเลือกบริโภคอะไรสักอย่างมันไม่ได้ให้แค่เรื่องของรสชาติ แต่เราอยากสร้างเสริมความเข้าใจว่าสิ่งที่เขาเลือกมันดีกับอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งมันเป็นการส่งเสริมแนวคิดนี้กลับไปที่เกษตรกรที่ทำผลผลิตด้วยวิธีการนี้อยู่ด้วย
 
สาเหตุที่เราสนใจในเรื่องนี้เพราะเรามีโอกาสที่จะได้ขึ้นไปอยู่กับต้นน้ำค่อนข้างเยอะ ได้เห็นเกษตรกรหลาย ๆ คนที่เขาอินเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตเมล็ดกาแฟมาก จนสามารถพัฒนารสชาติของเมล็ดกาแฟที่มาจากต้นเดียวกันให้เกิดหลากหลายในรสชาติได้ ด้วยการนำการศึกษาด้าน Food Science (วิทยาศาสตร์อาหาร) เข้ามาในขั้นตอนแบบจริง ๆ จัง ๆ เหมือนเขาสามารถที่จะแตกเข้าไปถึงขั้นเซลล์ของกาแฟได้เลย และเข้าใจว่าถ้าสมมุติปฏิกิริยานี้ทำงานกับกาแฟมันจะทำให้มีรสชาติเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน 
 
เรื่องการ Process (กระบวนการแปรรูป) ของกาแฟ จริง ๆ แล้วในวงการกาแฟเองมันมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการแปรรูปใหม่ ๆ ค่อนข้างเยอะ แต่ส่วนตัวแล้วเราต้องการที่จะบอกเล่าข้อมูลให้คนได้เข้าใจว่าสิ่งนี้คืออะไร มันเกิดขึ้นด้วยวิธีไหน ผ่านการ Process มาอย่างไร โดยที่เราพยายามที่จะให้ลูกค้าเป็นคนตัดสินใจเองว่าเขาโอเคกับสิ่งนี้ไหม ซึ่งจะต่างจากการมองด้วยอคติที่ว่าขั้นตอนเหล่านั้นมันดีหรือแย่กว่าเพียงเพราะกระแสความเข้าใจที่เกิดขึ้นต่าง ๆ หรือแม้แต่ความเคยชินจากชุดความเข้าใจเดิม แต่เราจะให้เปิดใจลองทำความเข้าใจดูเองมากกว่า
Image © Sauce Coffee

เราเลือกใช้วัสดุที่ทำมาจากเยื่อกระดาษรีไซเคิล สำหรับกล่องกาแฟ พัฒนารูปแบบกล่องให้เกิดใช้ซ้ำได้โดยพับเป็นถาดรอง และไม่ใช้วัสดุเนื้อผสม เพื่อลดการใช้พลังงานในการย่อยสลายวัสดุนั้น

เพื่อน-ในฝั่งของครีเอทีฟและการทำแบรนด์เราอยากจะให้แบรนด์ของเรามีความยั่งยืนอย่างรอบด้าน ไม่ใช่แค่ในเรื่องของการผลิต แต่รวมไปถึงเรื่องของบรรจุภัณฑ์ด้วย เราเลยไปลงคอร์สเรียนเกี่ยวกับ การออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Sustainable Packaging) ซึ่งสอนเรื่องแนวคิดด้านการออกแบบและวัสดุต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนาและปรับใช้กับแบรนด์ 


แต่มันมีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างทั้งเรื่องความหลากหลายของวัสดุหรือระบบการจัดการขยะในบ้านเรา เราเลยโฟกัสในสิ่งที่สามารถทำได้ก่อน อย่างการเลือกใช้วัสดุที่ทำมาจากเยื่อกระดาษรีไซเคิล สำหรับกล่องกาแฟ พัฒนารูปแบบกล่องให้เกิดใช้ซ้ำได้โดยพับเป็นถาดรอง และไม่ใช้วัสดุเนื้อผสม หรือกระดาษที่ผนังด้านในเป็นฟอยล์สำหรับถุงกาแฟแบบขายปลีก เพื่อลดการใช้พลังงานในการย่อยสลายวัสดุนั้นและสามารถแยกทิ้งเป็นขยะประเภทกระดาษได้เลย ซึ่งข้อจำกัดของการใช้ถุงประเภทนี้อาจจะทำให้อายุการเก็บรักษาของกาแฟน้อยลง แต่จากการคำนวณแล้วมันมีเวลามากเพียงพอกับการกินกาแฟหนึ่งถุงแน่นอน เพราะปกติแล้วกาแฟหนึ่งถุงจะบรรจุเมล็ดกาแฟ 150-200 กรัม จะชงได้ประมาณ 10-13 แก้ว หากชงดื่มทุกวันก็จะใช้เวลาประมาณสองอาทิตย์ก็จะหมดพอดี

คิดว่าสิ่งที่ทำให้แบรนด์ทั่วไปไม่ใช้บรรจุภัณฑ์แบบนี้เพราะอะไร

เพื่อน-ในมุมของการทำแบรนด์เราพยายามเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่มันดีกับวงจรการผลิตและโลกจริง ๆ  ซึ่งในตอนนี้ข้อจำกัดที่ทุกคนจะต้องเจอ คือถ้าเทียบกับราคากระดาษทั่วไปที่มีในตลาด วัสดุที่ทำมาจากเยื่อรีไซเคิลราคามันค่อนข้างสูง เราก็เข้าใจในฝั่งผู้ผลิตเหมือนกันเพราะการทำวัสดุใหม่ ๆ มันมีต้นทุนในการคิดค้น ขึ้นรูปและทดลองสิ่งพวกนี้อยู่ด้วย แต่เราเชื่อว่าถ้าผู้คนหันมาใช้วัสดุประเภทนี้มากขึ้น มันก็จะถูกลงตามกลไกของตลาด
 
พลอย-เราคิดแบบเดียวกันเกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืน หลังจากที่เราเปิดตัวมาได้เป็นเวลาหนึ่งปีกว่า มีเพื่อน ๆ จากวงการกาแฟเข้ามาขอคำปรึกษาเรา สอบถามเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์เยอะเลย ไม่ได้เข้ามาปรึกษาเพราะกาแฟด้วยซ้ำ (หัวเราะ) มันเป็นเรื่องที่ดีเพราะเรารู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังทำมันส่งเสียงไปถึงคนได้มากขึ้น และถ้าพวกเขาทำมันต่อไป ก็จะมีคนสนับสนุนเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ 

จุดเริ่มต้นที่ทำให้มันเป็นรูปเป็นร่างเกิดขึ้นเพราะเราทั้งสองจะสนุกไปกับมุมมองแบบอวยกันเอง

แรงผลักดันที่ทำให้โปรเจกต์นี้เกิดขึ้น

พลอย-จุดเริ่มต้นที่ทำให้มันเป็นรูปเป็นร่างเกิดขึ้นที่ห้องของเพื่อน เป็นห้องที่ไม่รู้ว่ามันมีพลังงานหรือฮวงจุ้ยอะไรบางอย่าง พอได้ไปนั่งเล่นเมื่อไหร่จะเกิดความคิดฟุ้ง ๆ คิดนู่นคิดนี่มีไอเดียมากมายที่คุยกันที่นั่น เช่น ‘เฮ้ย อันนี้น่าทำ อันนู้นก็อยากทำว่ะ’ เราทั้งสองจะสนุกไปกับมุมมองแบบอวยกันเองอะ (หัวเราะ) เพื่อนก็บอก ‘เฮ้ย ทำมั้ยเจ๊’ เราก็เอาด้วย ไม่มีใครห้ามใครจนพอตัดสินใจว่าจะทำก็เริ่มมานั่งคุยกันแบบจริงจังกับรายละเอียดที่มากขึ้น

เพื่อน-แต่ความตั้งใจแรกของเราทั้งสองเลย มองกันว่าอยากทำกาแฟต่างประเทศ เนื่องจากก่อนหน้านี้เราอยู่กับกาแฟไทยมาค่อนข้างนาน

พลอย-ใช่ คือเราทำเกี่ยวกับกาแฟไทยมานานจนเกิดการตีกรอบให้ตัวเอง พอเราได้เริ่มกลับมาค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟนอก เราพบว่ามันมีความหลากหลาย และความเป็นไปได้อีกมากมายทั้งในทางเทคนิคและกระบวนการ Process ที่เรายังไม่รู้อีกเยอะ ซึ่งมันทำให้รู้สึกว่าเราเอากลับมาพัฒนากาแฟไทยได้

บวกกับเพื่อนก็เชียร์เราด้วย ไม่มีใครห้ามใคร ต่างคนต่างเชียร์จนเกิดเป็นโปรเจกต์ที่คอนเซปต์และ Core value (กรอบความคิดหลัก) ที่ชัดเจนมากขึ้น มุมมองของวงการกาแฟของเราสองคน ในตอนนี้คือโลกกาแฟมันไม่จำเป็นต้องมีข้อจำกัดอะไร เราต้องการที่จะส่งเสริมวงการกาแฟทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นที่ไหนหรือใคร

ในช่วงเริ่มต้นแม้เราจะไม่ได้อยากแตะกาแฟไทย แต่ช่วงแรกที่ทำ Sauce Coffee มีคนติดต่อให้ไปพูด หรือเป็นวิทยากร เขาก็จะติดต่อเราให้พูดเรื่องกาแฟไทยอยู่ดี เหมือนมันเป็นภาพจำของตัวเราไปแล้วด้วย ว่าเราคือตัวแทนของกาแฟไทย พอเราลองมาคิดกับตัวเองเราก็ได้คำตอบกลับมาว่าเราทิ้งตรงนี้ไม่ได้ มันมีแรงและพลังบางอย่างที่บอกกับเราว่า เรายังต้องเป็นกระบอกเสียงให้กับคนไทยด้วยนะ ซึ่งพอเราคิดได้แบบนี้เราตัดสินใจชวนกันไปขึ้นฟาร์มกาแฟเลย เพื่อที่จะให้เห็นภาพตรงกันว่าเรากำลังจะทำ Sauce Coffee ออกมาในรูปแบบไหน

ตอนนี้คือโลกกาแฟมันไม่จำเป็นต้องมีข้อจำกัดอะไร เราต้องการที่จะส่งเสริมวงการกาแฟทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นที่ไหนหรือใคร

Image © Sauce Coffee

ความรู้สึกเราคืออยากได้กาแฟเขามาก เพราะเรารู้สึกว่ากาแฟเขาดี เราเลยตัดสินใจบอกพี่เขาไปเลยว่า ‘200 กิโลกรัมค่ะพี่’ พี่

ประสบการณ์ระหว่างโปรเจกต์ที่อยากเล่า

เราได้มีโอกาสได้เจอกับกาแฟไทยตัวนึง ที่พอเราได้ดื่มแล้วรู้สึก ‘เฮ้ย มันดีจัง’ มันมีรสชาติและกลิ่นที่ต่างออกไปจากกาแฟไทยที่เราเคยได้รับมาก่อน พอเรารู้ว่าใครคือเกษตรกรที่ผลิตกาแฟนี้ เราติดต่อเขาไปทันทีและบอกเขาว่า ‘เฮ้ย พี่หนูชอบกาแฟพี่มาก ต้องการที่จะขอซื้อกาแฟพี่มาใช้กับแบรนด์’ เขาก็ถามกลับมาว่า ‘น้องพลอยอยากได้จำนวนเท่าไหร่ล่ะ’ ช่วยสรุปจำนวนของทั้งปีให้พี่หน่อย 
 

เราก็เหวอไปเลย เพราะในตอนนั้นแบรนด์เพิ่งก่อตั้ง ยังไม่เสถียรพอที่จะคำนวณออกมาเป็นจำนวนต่อปีได้ ราคากาแฟพี่เขาก็ค่อนข้างสูงมาก แต่ความรู้สึกเราคืออยากได้กาแฟเขามาก เพราะเรารู้สึกว่ากาแฟเขาดี เราเลยตัดสินใจบอกพี่เขาไปเลยว่า ‘200 กิโลกรัมค่ะพี่’ พี่เขาก็ตอบกลับมาว่า ‘งั้นพี่จองให้เลย 200 กิโลกรัม’ ซึ่งมันเป็นจำนวนที่เยอะมากสำหรับโรงคั่วขนาดเล็กที่เพิ่งก่อตั้งแบบเรา

ตอนนั้นไม่รู้เลยจริง ๆ ว่าจะขายได้หรือไม่ได้ มีแค่ความเชื่อมั่นที่เราต้องมีกาแฟเขา จนปัจจุบันเราขาย 200 กิโลกรัมนั้นหมดไปแล้ว 

เราพยายามอย่างมากเพื่อให้กาแฟตัวนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น จนเราได้มาเจอโปรเจกต์นึงที่เราค่อนข้างภูมิใจมากที่ได้เข้าร่วมคือ Leaderboard: The Coffee Game ของประเทศแคนาดา เป็นเกมส์ที่ผู้ซื้อจะได้รับกาแฟทั้งหมด 10 ตัว โดยไม่รู้ว่าเป็นกาแฟอะไรจากที่ไหนและต้องตอบคำถามต่าง ๆเกี่ยวกับกาแฟแต่ละตัวนั้น ซึ่งใน season 9 ของเกมส์นี้ กาแฟไทยที่คั่วโดยพวกเราได้รับเลือกให้เป็นกาแฟ 1 ใน 10 ของเกมส์ ความพิเศษคือเป็นครั้งแรกที่มีกาแฟไทยในเกมส์นี้ และยังได้รับ feedback ค่อนข้างดีจากผู้เล่นเกมอีกด้วย ซึ่งแนวคิดตอนนั้นเราแค่อยากให้คนต่างประเทศได้รู้จักกาแฟไทยสมัยใหม่ซึ่งรวมถึงไปถึงการแปรรูปแบบใหม่ ๆ จากเกษตรกรไทยด้วย เพื่อเปลี่ยนความเชื่อเดิม ๆ ที่เค้าอาจมีเกี่ยวกับกาแฟไทย

เป้าหมายในอนาคตข้างหน้า

พลอย-เนื่องจากแบรนด์เรายังเล็ก ยังเข้าถึงคนได้ยากอยู่ แม้แต่หน้าร้านเองคนอาจจะยังไม่รู้เลยว่าอยู่ที่ไหน ตอนนี้เรากำลังพัฒนาโปรดักส์บางอย่างที่จะทำให้คนเข้าถึงกาแฟได้ง่าย อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องทำกาแฟในการชงกาแฟแล้วก็ได้ อีกอย่างคือเราอยากสร้างทีมให้แข็งแรงและโตขึ้น เพื่อพร้อมรับโอกาสที่จะเข้ามาในอนาคต

เพื่อน-มีความยั่งยืนเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ด้านของแบรนด์ ตั้งแต่ความสัมพันธ์กับผู้คนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร คู่ค้า และผู้บริโภค บรรจุภัณฑ์หรือวัสดุที่ใช้ในขั้นตอนต่าง ๆ การลดขยะและรีไซเคิลวัสดุที่เกิดขึ้นในวงจรการผลิตของแบรนด์ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราอยากผลักดันให้เกิดขึ้นได้ในแบรนด์ อยากให้รากฐานมันมีความแข็งแรงและสื่อสารให้ลูกค้าให้เข้าใจถึงวงจรที่ดีของกาแฟ

โปรเจกต์ที่ประทับใจและอยากแนะนำให้รู้จัก

พลอย-อยากแนะนำให้รู้จักโปรเจกต์จากพี่ ๆ เกษตรกรและนักแปรรูปกาแฟชื่อ พี่โกและพี่ออย จาก ฟาร์มศิริญญา เป็นฟาร์มเมอร์แรกที่เรานำเข้ามาขายในแบรนด์ พี่ ๆ ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีแพสชัน พวกเขาเข้าคอร์สเรียนออนไลน์เกี่ยวกับกาแฟอยู่ตลอด เราตื่นเต้นในทุก ๆ ครั้งที่ขึ้นไปเจอพี่ ๆ เพราะทุกครั้งจะได้รับรู้เรื่องใหม่ ๆ ที่เป็นผลลัพธ์จากการทดลองจริงของพี่ ๆ เกี่ยวกับการแปรรูปกาแฟอยู่ตลอด ในปีแรกที่ทำแบรนด์เลยชวนเพื่อนขึ้นไปเจอพี่โกและพี่ออย ได้ไปดูฟาร์มกาแฟและวิธีการทำงานของเขา โดยปีนี้เราตั้งใจจะนำเสนอกาแฟอีกหลายตัวจากฟาร์มศิริญญาให้คนดื่มได้เรียนรู้รสชาติกาแฟที่ไม่เหมือนกันจากหลากหลายการแปรรูป

Image © Sauce Coffee

เห็นได้ว่าตอนนี้ธุรกิจกาแฟมันโตขึ้นมาก เพราะฉะนั้นใคร ๆ ก็อยากจะเข้ามาทำธุรกิจนี้มากขึ้น แต่ไม่อยากจะให้ใครมองว่าการทำธุรกิจกาแฟมันง่าย เท่ คูล มีเงินลงทุนก็สามารถทำได้เลย เพราะความจริงแล้วมันมีทั้งคนที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ

คำแนะนำสำหรับคนที่กำลังเริ่มทำโปรเจกต์

พลอย-ถ้าเป็นมุมมองในความหวังดีจากเรา คืออยากจะให้คิดดี ๆ ก่อนจะเริ่ม อยากให้ทำสิ่งที่ตัวเองถนัดและชอบจริง ๆ ไม่จำเป็นจะต้องคิดเยอะ แต่อยากให้แน่ใจว่าสิ่งที่จะทำเป็นสิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ เพราะมันจะอยู่กับเราไปอีกนาน อยากให้มั่นใจจริง ๆ ก่อนที่จะเริ่มทำให้มันเป็นธุรกิจ เพราะจะมีหลายสิ่งที่ต้องเรียนรู้กับสิ่งที่เราชอบแน่นอน
 
เพื่อน-เราว่าอยากทำก็ทำเลย แต่อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือพาร์ทเนอร์ การได้เพื่อนที่ทำธุรกิจไปด้วยกันในความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันมันจะช่วยเติมเต็มสิ่งที่อีกคนหนึ่งขาดได้ และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมกันในการทำงาน
 
พลอย-เราขอเสริมในมุมมองของการทำร้านกาแฟ เห็นได้ว่าตอนนี้ธุรกิจกาแฟมันโตขึ้นมาก เพราะฉะนั้นใคร ๆ ก็อยากจะเข้ามาทำธุรกิจนี้มากขึ้น หรือแม้แต่อยากเป็นบาริสต้ากันมากขึ้น แต่ไม่อยากจะให้ใครมองว่าการทำธุรกิจกาแฟมันง่าย เท่ คูล มีเงินลงทุนก็สามารถทำได้เลย เพราะความจริงแล้วมันมีทั้งคนที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ
 
หลาย ๆ ครั้งเราก็ใจหายเวลาที่เพื่อนในวงการกาแฟเราไม่ประสบความสำเร็จในการทำกาแฟเป็นธุรกิจ  เราจึงอยากจะบอกว่ามันจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีความพร้อมทั้งในแง่ของธุรกิจ ความชอบ หรือการเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของเรา เพราะมันยังมีสิ่งที่มองไม่เห็นอีกเยอะ อาทิเช่นเรื่องลูกจ้าง หากวันนึงตัวธุรกิจล้มขึ้นมา มันมีอีกหลายชีวิตที่ต้องล้มตามไปด้วย เรายังอยากเห็นคนในวงการนี้ประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยอยากให้เขาคิดในเป้าหมายและศึกษามันให้ดีก่อนว่าสิ่งที่ลงทุนไปแล้วต้องการได้อะไรกลับมาจากการทำกาแฟ นอกเหนือจากเงิน

Secret Facts

ถ้าตัวเรามีความเชื่ออะไรสักอย่างที่เราศึกษามาและมองว่ามันน่าจะดี เราควรที่จะแชร์มันออกมา

ประสบการณ์ที่สร้างบทเรียนที่ดีให้กับคุณ

เพื่อน-เราคิดว่า ถ้าตัวเรามีความเชื่ออะไรสักอย่างที่เราศึกษามาแล้วและมองว่ามันดี เราควรที่จะแชร์มันออกมา เราคิดว่าโลกมันพร้อมที่จะสนับสนุนเราอยู่แล้ว มีคนที่พร้อมจะรับฟังและทำความเข้าใจในเรื่องราวและไอเดียใหม่ ๆอยู่เสมอ เลยอยากแนะนำให้ทุกคนแชร์ในสิ่งที่เราเชื่อออกไป
 
พลอย-ความสัมพันธ์เวลาเราทำงานร่วมกันร่วมกัน เราต่างต้องแคร์ความรู้สึกของเขามากขึ้น ต้องให้อิสระทางความคิดกับทุกคน มันเป็นบทเรียนที่เราเคยปิดกั้นเอาไว้ แต่พอเรามาทำตรงนี้รู้สึกได้เลยว่าการให้อิสระมันเป็นสิ่งที่ดีต่อกันและสร้างผลลัพธ์ที่น่าพอใจกลับมา

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันที่อยากแชร์

เพื่อน-ในหนึ่งอาทิตย์จะมีหนึ่งวันที่เราไปคั่วกาแฟด้วยกัน เป็นวันที่เราทั้งสองคนไม่ต้องทำอย่างอื่นเลยเพราะหมดแรง เวลาที่คั่วกาแฟเราคุยกันไม่ได้ด้วย เพราะเสียงเครื่องคั่วจะดังมาก พี่พลอยจะเป็นคนคั่วและเราจะเป็นคนแพ็ก ต่างคนต่างทำในพาร์ตของตัวเองและช่วยกันขนขึ้นรถ 


สถานที่ที่ชอบที่สุด

พลอย-บ้านของเพื่อน ห้องนั่งเล่นที่คล้าย ๆ ห้องแพนทรี ที่คนในออฟฟิศมักจะแอบมานั่งคุยกัน มีโปสเตอร์ กลองชุด มุมทำกาแฟ มันทำให้เกิดอินสไปร์บางอย่างทุกครั้งที่ได้ไป แม้ในวันที่ไม่ได้ตั้งใจเข้าไปคุยงาน เรากลับได้งานมาเฉยเลย และเป็นที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ด้วย

เลือกสีที่ชอบพร้อมเหตุผล

สีส้ม เป็นสีที่ทำให้มีความหวัง กระตุ้นความอยากอาหาร สนุกและมีชีวิตชีวา


EXPLORE MORE