The Archivist - PASSION BRUNCH

The Archivist โรงพิมพ์ด้วยมือที่ขับเคลื่อนด้วยคนสองคน มิน มิญชญา ชโยสัมฤทธิ์ และ วุ้น คณาพร ผาสุข กับการทำหน้าที่ส่งเสริมผลงานของศิลปินผ่านเทคนิค silk screen printing (ซิลก์สกรีน) ที่มีจุดเด่นที่เฉพาะเจาะจง เทคนิคเดียว

แนะนำ The Archivist สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน  

The Archivist เราเป็นพรินต์สตูดิโอที่พิมพ์งานด้วยเทคนิค silk screen printing (ซิลค์สกรีน) เพียงเทคนิคเดียว ในการผลิตภาพภาพนึงออกมาที่คนมองว่าเป็นภาพจบของงาน มันมีขั้นตอนมากมายระหว่างการพิมพ์งานที่คนอื่นมองไม่เห็น เช่น การเข้าไปจัดการตัวไฟล์ต้นฉบับร่วมกับตัวศิลปินเพื่อตอบโจทย์ตามที่ตัวศิลปินต้องการและมองหาเทคนิคที่ดีที่สุดสำหรับงานชิ้นนั้น ๆ

สำหรับ The Archivist เวลาที่เราได้เห็นผลงานหรือภาพของศิลปิน เราจะรู้สึกได้ว่า ‘โห มันน่าพิมพ์จังวะ ถ้าพิมพ์ออกมาสีต้องอิ่มกว่าพิมพ์ดิจิทัลแน่นอน’ เราคิดไปถึงขั้นตอนการแยกสีในแต่ละชิ้นงานออกมา หรือเทคนิคต่าง ๆ ที่จะสามารถใช้ในงานได้ ถ้าเป็นการพิมพ์งานในระบบอื่นเราจะไม่สามารถที่จะเข้าไปควบคุมการผลิตได้ แต่สำหรับการพิมพ์ซิลค์สกรีนมันเป็นการใช้สีพิเศษทั้งหมด เราจำเป็นที่จะต้องทดลองเลือกสีและควบคุมทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบงาน

โปรเจกต์ The Archivist เกิดขึ้นได้อย่างไร

มิน ตอนที่เราเรียนป.โท ในช่วงที่กำลังค้นหาสิ่งที่ตัวเราอยากทำ เราสนใจงานที่ทำได้ด้วยมือและงานที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองทั้งหมด เลยได้มาเจอกระบวนการซิลค์สกรีน ซึ่งโดยส่วนตัวเราชื่นชอบเรื่องของกระบวนการพิมพ์อยู่แล้ว มันเลยตอบโจทย์เราในแง่ของการพิมพ์งานที่เราคือคนที่ควบคุมงานตัวเองให้สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ 
 
หลังจากนั้นเราเลยได้เริ่มศึกษาให้มากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากการพิมพ์งานของตัวเองก่อน แล้วค่อย ๆ ขยายไปพิมพ์งานของเพื่อน ๆ ที่เป็นนักวาดภาพประกอบ พอทำงานมาได้ประมาณนึงเราเริ่มมองเห็นคุณค่างานพิมพ์ เพราะคนที่ซื้องานก็สามารถรับรู้ได้ด้วยว่ามันคือการพิมพ์ที่พิเศษมากกว่างานพิมพ์ดิจิทัลที่เขาคุ้นเคย แต่ก็ยังเป็นเทคนิคที่มีคนที่ไม่รู้จักอยู่มากเหมือนกัน
 
เป้าประสงค์หลักของเราคือการ support (สนับสนุน) ศิลปินในการผลิตผลงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบมาก แต่เราก็ต้องทำงานประเภทอื่นควบคู่ไปด้วย อย่างช่วงปีแรก ๆ จะมีงานประเภทงานเชิงพาณิชย์ติดต่อเข้ามาด้วย ซึ่งเราก็ชอบเหมือนกัน เพราะมันเป็นโจทย์ที่ต่างกันออกไป ทำให้เราได้เรียนรู้และพัฒนาฝีมือตัวเองให้เก่งมากยิ่งขึ้น มีครั้งนึงที่เคยได้รับโจทย์จากนักเขียนที่เป็นการเขียนบทกลอน อ่านแล้วรู้สึกได้ว่าภาษาและเนื้อหาที่สวยขนาดนี้ ถ้าเราสามารถพิมพ์มันออกมาให้สวยงามเพื่อส่งเสริมตัวงานยิ่งขึ้นไปอีกมันคงจะดี
 
วุ้น ส่วนเราติดตามผลงานของพี่มินอยู่แล้วตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย เราคิดว่าพี่มินเขาเก่งมากและเป็นหนึ่งคนที่เราอยากร่วมงานด้วย เลยอยากจะร่วมงานด้วยกัน ตอนนั้นเราเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ทำงานประเภทหนังสืออยู่เยอะมาก งานครีเอทีฟก็ทำด้วย เราเลยได้เรียนรู้วิธีการสื่อสารผลงานตัวเองจากงานเหล่านั้น เลยอยากจะเข้ามาช่วยพี่มินดูในส่วนของการสื่อสารและการทำให้ลูกค้าเข้าถึงตัวเราและเข้าใจวิธีการได้มากยิ่งขึ้น 

ความไม่รู้ของเรา ทำให้เราได้ทดลองงานเยอะมาก

เจตจำนงของ The Archivist

ในช่วงแรกเราทำงานด้วยวิธีการแก้ปัญหาในโจทย์ที่ลูกค้ามอบให้ไปเรื่อย ๆ แต่ด้วยความที่เราไม่ได้เรียนจบสาขาภาพพิมพ์โดยตรง ทางเดียวที่เราจะเรียนรู้ได้คือการที่มีคนเอางานที่หลากหลายมาให้เราพิมพ์เพื่อให้มีโจทย์ให้เราได้แก้ วิธีการแก้ปัญหามันมีเป็นร้อยเป็นพันให้เลือกใช้ ลูกค้าบางคนมีวิธีการตั้งคำถามด้วยโจทย์บางอย่างที่ในบางครั้งเราอาจจะคิดไม่ถึง ถ้าเราไม่ทำตัวเองให้เชี่ยวชาญเราก็จะไม่สามารถให้คำแนะนำเขาได้ ภาพพิมพ์ในช่วงแรกที่เราทำจึงมีวิธีการจัดการและมีลำดับขั้นตอนที่แทบจะไม่ซ้ำกันเลย เราปรับและเปลี่ยนวิธีการและค่อย ๆ เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ 
 
เนื่องจากเราเป็นสตูดิโอขนาดเล็ก หลาย ๆ ครั้งเราก็ไม่แน่ใจเลยว่าเรายืนอยู่ตรงไหน เราไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราทำมันดีมากพอหรือยัง หรือมันมีบางอย่างที่ผิดหลักการที่มันควรจะเป็นไป เราจึงเริ่มเผยแพร่งานและสื่อสารวิธีการทำงานออกไปตามช่องต่าง ๆ ผลปรากฏว่าเราได้รับคำติชมจากพรินเตอร์ทั่วโลก และคำถามที่เป็นความสงสัยเชิงเทคนิคต่าง ๆ เช่น ‘แยกสีแบบนี้ได้ยังไง’ ใช้เม็ดฮาฟโทนขนาดเท่าไหร่ ผ้าสกรีนเบอร์อะไร
 
มันสนุกมาก เพราะเราไม่เคยรู้เลยว่าเราผลักดันตัวเองให้ทำเทคนิคที่เหนือกว่าปกติแค่ไหน เรากล้าที่จะเสี่ยงและทำมากกว่าคนอื่นขนาดไหน ไม่ใช่ว่างานของคนอื่นไม่มีความละเอียดเท่าเรานะ แต่ความไม่รู้ของเราทำให้เราได้ทดลองงานเยอะมาก กว่าจะได้ภาพที่คิดไว้ออกมา เมื่อมันถูกเผยแพร่ออกไป มันก็สร้างประโยชน์และส่งเสริมทั้งงานของคนอื่นและตัวเราด้วย 

เผยแพร่วิธีการทำงานในช่องทางไหนบ้าง

เราพยายามที่จะอธิบายและโชว์กระบวนการทำงานผ่านหลาย ๆ ช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Instagram ว่าเราทำมันยังไง เราอาจจะไม่สามารถทำหนังสือหรืออะไรที่จับต้องได้ง่ายขนาดนั้น แต่เราเชื่อว่าเราได้อธิบายอย่างละเอียดในทุกครั้งที่เราโพสต์ออกไป เราเลยอยากชวนทุกคนมาดูโพสต์เก่า ๆ ของพวกเรา เพราะเราพยายามจะเขียนอธิบายด้านเทคนิคเยอะมากจริง ๆ
 
การแชร์ความรู้มันเป็นธรรมชาติของตัวเราด้วย เพราะเราเองก็พยายามจะไปตามหาอ่านบทความของคนอื่นที่ทำงานพิมพ์เหมือนกันว่าเขาทำกันยังไง ใช้บล็อกยังไง เรานำข้อมูลที่เป็นประโยชน์เหล่านั้นเป็นเหมือนครู เราเลยอยากส่งต่อมันเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับคนที่สนใจมันจริง ๆ เช่นกัน แม้เราจะอยู่ตรงนี้แล้วเขาอยู่ที่ยุโรป ทุกคนสามารถติดตามผลงานและแสดงความคิดเห็นกับผลงานของเราได้จากทุกที่เลย 
 
เราสนุกทุกครั้งที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้คน เราเลยเกิดความคิดอยากจัดนิทรรศการของตัวเองเพื่อสื่อสารออกไปยังคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการภาพพิมพ์ ให้ผู้คนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นกับงาน ตอนที่เราจัดงานใครอยากรู้อะไรเราตอบหมดเลย จากประสบการณ์ที่เราเคยจัดงานมาแล้วสี่ครั้ง เราได้รับการตอบรับต่าง ๆ ภายในงานซึ่งทำให้เราได้รู้ว่าปัจจุบันเราอยู่ตรงไหนของตลาดหรือวงการในระดับนานาชาติ

แรงผลักดันที่ทำให้ The Archivist เกิดขึ้น

มิน แรงผลักดันที่ทำให้ The Archivist เติบโตขึ้นมาคือตอนที่เราทั้งคู่ตัดสินใจมาทำสตูดิโอเต็มตัว สำหรับเราเองต้องเลือกว่าจะเลิกรับงานฝั่งออกแบบเพื่อที่จะโฟกัสกับการเป็น Printmaker เพราะตอนแรกเราเอาพลังงานไปโฟกัสสองอย่างในชีวิต ซึ่งมันเป็นการทำงานคนละแบบ คนละวิธีกัน มันยากที่เราจะสามารถเต็มที่ได้ทั้งสองงาน สุดท้ายแล้วเราพบว่าเราชอบที่จะแก้ปัญหาด้านงานพิมพ์มากกว่างานออกแบบ เราสนุกกับการแก้ปัญหาตรงนี้เลยทำมันมาเรื่อย ๆ 
 
วุ้น ส่วนตัวเราเองเชื่อมั่นในตัวพี่มินมาก ๆ ในช่วงแรกเราก็ทำงานประจำไปด้วย เพราะเรามีความคิดแบบคนยุคเก่าหน่อย ด้วยความที่ไม่ได้มีพื้นฐานครอบครัวที่สนับสนุนมากขนาดนั้น เรายังต้องทำงานประจำเพื่อดูแลตัวเอง แม้ตอนนั้นจะรู้แล้วว่าการทำ Print Studio มันก็มีอนาคตเหมือนกัน ในจุดเริ่มต้นแน่นอนมันยาก ต้องค่อย ๆ ปรับตัวไป จนได้เวลามาประมาณ 2 ปี เริ่มรู้สึกว่าอยากทุ่มเทกับตรงนี้เลยออกจากงานมาทำงานนี้เต็มตัว

คิดเห็นยังไงกับวงการงานภาพพิมพ์ในตอนนี้

เราว่าช่วงปีนี้ดูมีคนสนใจภาพพิมพ์เยอะขึ้นมาก แต่เราว่าคนที่สนใจจริง ๆ และอยากศึกษาและเข้าใจวิธีการจริง ๆ มันอาจจะยังน้อยอยู่ดี มีบางคนแค่ได้ยินผ่าน ๆ เรื่องเทคนิคและคิดว่ามันน่าจะดีและอยากใช้เทคนิคนี้กับงานของตัวเอง แต่เขาอาจจะไม่ได้รู้ว่าภาพนั้น ๆ อาจจะไม่เหมาะสมกับวิธีการนี้ก็ได้ เขาแค่มองว่าเขาอยากใช้เทคนิคนี้ ซึ่งสำหรับเรามันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า
 
ในฝั่งของคนซื้องานพิมพ์เองก็เริ่มมีปัญหาของตลาดรีเซลที่ตั้งราคากันเขี้ยวสุด ๆ บางคนซื้องานไปด้วยราคาที่สูงมากแต่ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าตัวงานมันเป็นยังไง แค่ต้องการเอาไปรีเซลเท่านั้นเอง เป็นปัญหาที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราไปแล้ว เราเริ่มรู้สึกสะเทือนใจกับวงการรีเซลเหมือนกัน เพราะเราให้ความสำคัญกับงานพิมพ์มาก แต่ละครั้งที่เราต้องแฮนด์พูล เราอยากที่จะพิมพ์ให้มันสวย แต่คนกลับสนใจแค่ตัวชื่อเสียงของศิลปิน และต้องแข่งกันซื้อให้ทันเพื่อที่จะนำไปอัปราคาขายต่ออีกที บางทีขายต่อในวันเดียวกันด้วยซ้ำ มันน่าเศร้ามากสำหรับเรา
 
ใช่ มันคือกลไกของการตลาดที่เกิดขึ้น แต่ตอนนี้มันเข้ามา disrupt (สร้างความแตกแยก) และเพิ่ม demand (ความต้องการ) ไปในตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดยาก เพราะมันดีที่ตลาดมีความต้องการที่สูงขึ้น แต่ในทางกลับกันผลงานกลับตกไปอยู่ในมือของคนที่ซื้อไปเพื่อเก็งกำไร มากกว่าการอยู่ในมือของคนที่เห็นคุณค่าของตัวงานมันจริง ๆ ผลงานมันเดินทางไกลกว่าที่มันควรจะเป็นมาก สิ่งที่เกิดขึ้นมันยิ่งทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมรึเปล่า

โปรเจกต์ที่ประทับใจและอยากแนะนำ

เราจะมีโชว์ร่วมกับสกรีนพริ้นท์สตูดิโอที่เบอร์ลิน ชื่อ Le Raclet เป็นโปรเจกต์ที่ชื่อว่า The Printers’ Prints ที่เราจัดเป็นครั้งที่สามแล้ว งานนี้จะพูดถึงการเป็นพริ้นท์เตอร์ (หรือช่างพิมพ์) และแสดงให้เห็นความสำคัญของคนพิมพ์งาน ภายในงานจะมีงานของทั้งสองสตูดิโอ โดยตัวภาพพิมพ์จะเป็นการร่วมงานกันกับ Local Artists (ศิลปินในพื้นที่) เพื่อโชว์ความถนัดและลักษณะเฉพาะตัวที่แต่ละสตูดิโอคลี่คลายงานออกมา 

 

ตอนนี้ตัวงานจัดแสดงอยู่ที่เบอร์ลิน และโชว์ทั้งหมดจะถูกยกมาจัดแสดงที่ไทยเหมือนกัน โดยงานจะจัดแสดงที่ SOKO วันที่ 3-6 พฤศจิกายน ปี 2565

คำแนะนำสำหรับคนที่กำลังเริ่มทำโปรเจกต์ส่วนตัว

มิน สิ่งที่เป็นพื้นฐานมากสำหรับเราคือการหาความรู้ หากคุณสนใจและรักในเรื่องบางเรื่องจริง ลองเริ่มค้นคว้าหาข้อมูล ตั้งคำถามและเข้าหาคนที่เขามีความรู้เพื่อศึกษาและขอความรู้ การที่เราหมกมุ่นกับอะไรมาก และทำมันต่อไปมันจะต้องเกิดอะไรบางอย่างออกมาแน่นอน อาจจะมีช่วงที่ท้อบ้าง มีขึ้นก็ต้องมีลงอยู่แล้ว มันเป็น cycle (วงโคจร) ของมัน เราว่าไม่ต้องไปท้อหรือโทษตัวเองว่าทำไมมันยังไม่สำเร็จ หาอะไรอย่างอื่นทำไปด้วยไม่ต้องไปกดดันตัวเองมากขนาดนั้น
 
มันมีวงจรของมันที่อาจจะมีช่วงที่ active (กระปรี้กระเปร่า) และช่วงที่เงียบไป แต่เดี๋ยวความรู้สึกนี้ก็จะถูกหมุนเวียนออกไป
 
วุ้น ความรู้สึกหมดแรงมันเกิดขึ้นเสมอในช่วงระหว่างการทำงาน แต่เราจะผ่านไปได้ เพราะมันจะมีจุดนึงที่เราสนุกกับมัน สมมุติว่ามีอยู่งานนึงที่เราไม่ได้รู้สึกสนุกตอนทำขนาดนั้น แต่มันดันมาสนุกตอนขาย เราก็สามารถที่จะตั้งเป้าหมายให้สนุกกับเรื่องอื่นได้โดยยังอยู่ในขอบเขตของงานได้ด้วย บางครั้งที่เราทำงานหนักมากเกินไป เราอาจจะต้องหยุดให้ตัวเองได้พักเพื่อกลับมาสนุกกับมันอีกครั้ง
 
ทุกคนล้วนมีงานที่ถืออยู่ หนักเบาต่างกันไป แต่เราต้องรู้ตัวว่าหากมันเกิดความรู้สึก burn out (หมดไฟ) ในการทำงาน เราอาจจะทำงานเกินลิมิต 8 ชั่วโมงติดต่อกัน 5 วัน เสาร์อาทิตย์เราต้องพักบ้าง บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังเครียดอยู่ เหมือนมันเกาะติดอยู่กับเราตลอดเวลา ไม่รู้ตัวว่าตอนนี้ตัวเองกำลังเหนื่อย ต้องพยายามสังเกตและคอยเตือนตัวเองให้หยุด เพราะร่างกายคนเรามันมีข้อจำกัด ถ้าเราสามารถที่จะบาลานซ์ชีวิตในแต่ละวันได้ เราจะสามารถกลับมาอยู่ในจุดที่สนุกได้และทำให้มันสำเร็จออกมา

Secret Facts

เราไม่รู้หรอกว่าเราเก่งขึ้นแค่ไหน จนวันที่เราได้มองกลับไปยังปัญหาเก่า ๆ ที่เราเคยมองว่ามันยาก แต่ในวันนี้เรารู้แล้วว่าเราจะจัดการกับมันได้ยังไง

เหตุการณ์ที่สร้างบทเรียนที่ดีในระหว่างทำโปรเจกต์

วุ้น จะมีบทเรียนที่สร้างความรู้สึกดีเล็ก ๆ ให้กับเรา คือการได้พิมพ์งานกับศิลปินที่เราเคยพิมพ์ให้เขาช่วงหลายปีก่อน งานที่ก่อนหน้านี้เราเคยรู้สึกว่ามันยาก แต่ในวันนี้เรามองเห็นว่าจะจัดการกับปัญหาเหล่านั้นยังไงได้ในทันที ถือเป็นโมเมนต์ที่ชอบที่สุดเลยเพราะรู้สึกว่าตัวเองเก่งขึ้น บางทีเราไม่รู้ตัวเองเลยว่าเก่งขึ้นแค่ไหนจากการทำงานมาสักพักนึง แต่พอมาเจอเหตุการณ์แบบนี้มันเหมือนเป็นตัววัดที่ทำให้เรารู้ว่าเราเก่งขึ้นแล้วจริง ๆ
 
มิน บทเรียนที่ดีคือเคยมีช่วงเวลาที่เราพยายามรีบทำให้งานมันเสร็จ สุดท้ายแล้วผลมันออกมาไม่ดี เกิดความรู้สึกโมโห อยากแก้มันก็ช้าเกินไปแล้ว อาจจะต้องรื้อใหม่ทั้งหมดเพื่อทำมันให้ดีขึ้น เป็นบทเรียนที่เราจะไม่พยายามรีบทำงานมากจนเกินไป เพราะถ้าเราได้ให้เวลากับมันมากกว่านี้มันคงจะแก้ปัญหาได้ดีกว่านี้


ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมีอะไรที่เราเก่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดบ้าง

ช่วงแรกจำนวนสีที่เราทำได้ต่อ 1 ภาพ จะอยู่ที่ 4-7 สี เพราะในการพิมพ์ 7 สีจะมีแม่พิมพ์ทั้งหมด 7 บล็อก และกระดาษก็จะต้องถูกเวียน 7 ครั้งเพื่อให้ครบทุกสี ถ้าต้องพิมพ์งานทั้งหมด 100 แผ่น เราต้องแฮนด์พูลถึง 700 ครั้ง ยังไม่รวมแผ่นที่พิมพ์เผื่อการเสียหายอีก 
 
หลังจากทำ The Archivist มาได้ 10 ปี การทำ 7 สี ถือว่าน้อยมาก ๆ ถ้ามีงานที่ใช้แค่ 7 สีเข้ามาจะถือว่าเป็นบุญมาก ตอนนี้งานที่ใช้ 7 สีกลายเป็นจำนวนเริ่มต้นไปแล้ว ซึ่งคนที่ผลักดันเรามาเรื่อย ๆ คือลูกค้าที่คอยให้โจทย์และจำนวนสีที่เยอะขึ้น เหมือนเป็นการเพิ่มยาและโจทย์ที่ยากขึ้นให้ แต่เราคนทำงานยังมีสองคนเหมือนเดิมนะ 

รู้สึกดีใจที่สุดในตอนไหน

วุ้น เราชอบตอนที่ได้ทำงานต่อจากพี่มิน การทำบล็อกหรือผสมสี แล้วพอเราพรูฟงานกัน เรารู้สึกดีใจมากที่สามารถสานต่อให้งานจากเพื่อนร่วมงานให้มันสมบูรณ์ ยิ่งตอนที่ศิลปินมาดูงานแล้วชอบงานที่เราทำมันเจ๋งมากเลยว่ะ ยิ่งงานไหนที่ทำโดยไม่มีปัญหาเลยตั้งแต่ต้นจนจบมันจะรู้สึกดีสุด ๆ
 
มิน ส่วนเราสนุกกับการคิดวิธีผสมสี วิธีเซตและลำดับการทำงานต่าง ๆ เหมือนเป็นคนคิด Puzzle ให้วุ้นได้ไปทำงานต่อ เราเหมือนคนคิดเกมถ้าวุ้นเก็ตว่าเราทำตรงนี้มาเพื่อให้มันง่ายขึ้นสำหรับเราทั้งสองคน ทำให้รู้สึกดีใจและชอบใจ
 
หรือแม้แต่บางครั้งในการผสมสีที่ยากมาก ๆ แบบอีกนิดเดียวจะได้ตามค่าสีที่ต้องการ เราตัดสินใจว่าหยอดสีนี้ลงไปจะทำให้มันใกล้เคียงค่า Pantone มากที่สุด และพอทำแล้วมันออกมาได้ตามที่เราต้องการพอดี มันจะเกิดความฟินและดีใจกันเองสองคน ซึ่งเราว่ามันเป็นความอัศจรรย์ของสี

สิ่งที่ทำในชีวิตประจำวันที่คนอื่นไม่รู้และอยากแชร์

วุ้น เราชอบวิ่งเทรล เพราะเราเพิ่งมาคิดได้ว่าเรากำลังจะตายจากอาชีพของเรา หลัก ๆ เลยคือชอบทำงานจนลืมไปว่างานที่เราทำอยู่มันเป็นงานแรงงานที่อาจจะเสี่ยงต่อปัญหาเรื่องสรีระและการทรงตัว คล้าย ๆ กับคนที่เป็นออฟฟิศซินโดรม แต่ด้วยที่ว่าเราทำงานที่เราชอบ เราไม่รู้ตัวเลยว่าร่างกายเริ่มทรุดโทรมลงแค่ไหน ยิ่งตอนที่ทำงานหนักและมีน้องฝึกงานเรากินและดื่มเยอะมาก ๆ พอหลังจากไม่มีน้องฝึกงานเราเลยเริ่มลดการดื่มลง ช่วงโควิดเป็นช่วงที่ทำให้เราได้รีเซตตารางใหม่ทั้งหมด ได้กลับมาหาจุดที่จะบาลานซ์ เลยวิ่งเทรลจนสะสมเหรียญไว้เต็มสตูฯ

มิน นอกจากไปวิ่งกับวุ้นเพื่อสุขภาพและความท้าทาย งานอดิเรกคือเราจะหัดเล่นเปียโนเพลงคลาสิคที่ชอบ คือหัดแบบงู ๆ ปลา ๆ นี่แหล่ะ แต่ส่วนที่ชอบคือ การได้จมอยู่กับบางท่อน ตั้งแต่เล่นไม่ได้ จนค่อย ๆ เล่นได้ช้า ๆ เขยิบไปทีละท่อน ๆ ไปหาฟังเพลงเดียวกันที่นักเปียโนแต่ละคนเล่นต่างกัน ผ่านไปหลายวัน หลายอาทิตย์ จนสามารถประกอบกันจนจบเพลง มันเหมือนได้รู้จักเพลงเหล่านั้นในแบบที่ slow มาก ๆ ยืดขยายทุกอย่างออกในแบบที่ช้าและชัดเจน แล้วค่อย ๆ เร่งสปีดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้ฝึก muscle memory เราชอบที่ได้เห็นพัฒนาการเล็ก ๆ ของตัวเอง มันทำให้รู้สึกว่า คนเราเรียนและฝึกฝนได้เสมอ และถ้าฝึกต่อเนื่อง พอได้นอนแล้วตื่นมาอีกวันเราจะเก่งขึ้นกว่าเดิม

สถานที่ไหนที่ชอบที่สุด

วุ้น ชอบสตูดิโอ เพราะมันมีทุกอย่าง ฟังเพลง ดูหนัง เล่นเกม
 
มิน ไม่มีเป็นพิเศษ จริงๆ คืออาจจะมีหลายที่ แต่ชอบแค่บางช่วงเวลาของวันในที่นั้น ฮ่า ๆ
 

สีที่ชอบที่สุด

สีนีออนที่ไม่มีใน CMYK มันเป็นสีที่มีความเป็น RGB กับสีเทาเพราะเป็นสีที่ผสมให้มันกลางยากมาก ถ้ามีสีอะไรที่แทรกเข้าไปในสีเทาแล้ว เช่น ติดสีชมพูเข้าไป มันยากมากที่จะทำให้มันกลับมาเป็นสีเทาได้ และสีเทาก็เป็นสีของแมวเราด้วย

EXPLORE MORE