Wasteland - PASSION BRUNCH

Wasteland กลุ่มเครือข่ายกึ่งคอมมิวนิตี้ ที่พร้อมทำงานร่วมกับผู้คนเพื่อผลักดันความหมายของอาหารและเครื่องดื่มให้มากกว่าแค่เรื่องของรสชาติหรือหน้าตาที่เราคุ้นชิน ให้กลายเป็นสิ่งที่ผ่านการคิดมาอย่างถี่ถ้วนเพื่อส่งเสริมชุดความรู้ให้ผู้คนเข้าใจประโยชน์สูงสุดของวัตถุดิบและเรื่องของสิ่งแวดล้อม

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์

ผม ธรัฐ หุ่นจำลอง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Wasteland ก่อนอื่นผมต้องขอเล่าก่อนว่าเราเริ่มต้นมาจากความคิดที่ อยากจะจัดเป็นอีเวนต์เพื่อทดลอง ตอนนั้นผมทำงานเป็นผู้จัดการสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ร้าน Bo.lan ผมเริ่มสังเกตเห็นว่าในครัวมีส่วนของวัตถุดิบเหลือใช้อยู่จำนวนมากซึ่งปกติทางร้านจะนำไปหมักเป็นปุ๋ย เช่นผักหรือผลไม้เหลือในครัวที่ไม่สามารถจะนำไปประกอบอาหารต่อได้แล้ว เลยเกิดไอเดียในการที่อยากจะนำวัตถุดิบเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อ โดยการนำมาพัฒนาให้สามารถทำเป็นเครื่องดื่ม เช่นค็อกเทลทั้งมีแอลกอฮอลล์ และไม่มีแอลกอฮอล์
Image © wasteland
ซึ่งพอดีกับที่ตอนนั้นทางร้าน Bo.lan กำลังจะเปิดพื้นที่เป็นเหมือน community space ที่รวมเอาแบรนด์จากหลากหลายธุรกิจเข้ามาอยู่ด้วยกัน ทางร้านจึงชวนให้เราเข้าร่วมพื้นที่ตรงนั้นด้วย นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ Wasteland เลยก็ว่าได้
 
ในช่วงแรกของ Bo.lan community space เป็นช่วงโควิดพอดี ทำให้ร้านต้องเปิดปิดไปตามช่วงเวลาและมาตรการของรัฐบาลเกี่ยวกับเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แต่นอกจากตอนแรกที่รับส่วนของวัตถุดิบแค่ภายใน Bo.lan community space เราก็ได้เริ่มเข้าหาร้านอาหารเครื่องดื่มรวมถึงสถานที่ผลิตอาหารและธุรกิจต่าง ๆ เพื่อที่จะได้รับส่วนของวัตถุดิบที่มีความหลากหลาย โดยเริ่มจากพื้นที่ทองหล่อ
Image © wasteland

เราไม่ได้ต้องการที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นแค่บาร์แล้ว แต่เราอยากจะเป็นเหมือนเครือข่ายที่พร้อมจะทำงานร่วมกับคนอื่น

แต่หลังจากนั้นร้าน Bo.lan ก็ได้ปิดตัวลง ทำให้เราต้องปิดหน้าร้านไปด้วยและหันมาเน้นทำเป็นเวิร์กชอป ออกอีเวนต์ และเป็น speaker แทน ทำอยู่ได้ประมาณปีกว่า ๆ จนมาถึงปีนี้ เราเริ่มอยากที่จะปรับโมเดลการทำงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะเราไม่ได้ต้องการที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นแค่บาร์แล้ว แต่เราอยากจะเป็นเหมือนเครือข่าย ที่พร้อมจะทำงานร่วมกับคนอื่นด้วย อยากจะใช้ความรู้ร่วมกับคนและรูปแบบงานที่หลากหลายมากขึ้น 

จากประสบการณ์การที่เราได้เข้าไปพูดคุยกับทางภาครัฐ เขาพร้อมที่จะรับฟังเราเช่นกัน เพราะ Core (ใจความสำคัญ) จริง ๆ ของเรามันไม่ใช่แค่การทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสุรา แต่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งมันสามารถพัฒนาไปในถึงแก่นของการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของชุมชนได้อีกด้วย

เหตุผลอะไรที่ทำให้โปรเจกต์ดำเนินมาไกลได้ขนาดนี้

เรียกว่าเริ่มจากการไม่หยุดคิดและกัน ตั้งแต่ต้นมันเกิดจากการสังเกตและพยายามคิดต่อยอดในสิ่งที่ตัวผมเองชื่นชอบ นั่นคือการให้คุณค่ากับวัตถุดิบ อย่างสมุนไพรหนึ่งต้นเราสามารถกินได้ตั้งแต่ก้านถึงดอกของมัน แต่ด้วยความเข้าใจตามปกติที่เราเรียนรู้กันมามันทำให้ไม่กล้ากินส่วนอื่น ๆ ที่มักจะเห็นมันถูกตัดทิ้งออกไป
 
เราไม่ได้ต้องการคิดให้มันแปลก หรือพลิกแพลง แต่เราแค่มองเห็นว่าวัตถุดิบเหล่านั้นมันยังสามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก นี่คือสิ่งที่เราเห็น อย่างที่อื่นที่วัฒนธรรมเขาต่างออกไปจากเรา เขาใช้วัตถุดิบแบบเดียวกันกับเรา แต่เขากลับเลือกบริโภคคนละส่วนกับที่เราใช้ มันเป็นไปได้หมด ความจริงแล้วทั้งหมดมันสามารถนำมาบริโภคได้ เพียงแต่ต้องอาศัยการเปิดใจและพยายามเข้าใจให้มากขึ้น เราจึงพยายามผลักดันให้ผู้คนเปิดใจกันให้มากขึ้น และเข้าใจในประโยชน์ของสูงสุดของวัตถุดิบนั้น ๆ รวมไปถึง ความเกี่ยวเนื่องกับ ระบบอาหาร สังคม และสิ่งแวดล้อม
Image © wasteland

เราไม่ได้ต้องการแค่อยากจะให้คนดื่มด่ำกับรสชาติหรือหน้าตา แต่เราจะทำยังไงให้ศาสตร์ของการใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด

มีวิธีการอย่างไร ที่ใช้สื่อสารข้อมูลนี้ไปยังผู้คน

ตอนที่เราทำงานหน้าบาร์เราจะโฟกัสอยู่กับแค่ลูกค้าที่ดื่มด่ำกับค็อกเทล แต่ตอนนี้โจทย์ของเรามันต่างออกไป เราไม่ได้ต้องการแค่อยากจะให้คนดื่มด่ำกับรสชาติหรือหน้าตา แต่เป็นการที่เราจะทำยังไงให้ศาสตร์ของการใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด เข้าถึงคนหมู่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างการไปเป็น speaker หรือแม้แต่การมีโอกาสได้เข้าไปร่วมพัฒนาความรู้พร้อมกับชุมชน การนำเสนอวิธีการจัดการวัตถุดิบในรูปแบบหรือสถานะต่าง ๆ เมื่อเราได้แชร์ความรู้นี้ออกไป มันทำให้หลายคนที่ไม่เคยคิดถึงตรงจุดนี้มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับวัตถุดิบและสิ่งแวดล้อม สิ่งของที่ก่อนหน้านี้เคยเสียเปล่าก็จะทำประโยชน์ต่อได้

สำหรับผมธุรกิจอาหารในตอนนี้ยังไม่มีความโปร่งใสต่อผู้บริโภคเท่าที่ควร เราพยายามสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงความเป็นมาของวัตถุดิบต่าง ๆ ในเรื่องของแหล่งผลิต ว่าปลูกโดยใคร เก็บเกี่ยวยังไง มีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน และถูกกินได้ในรูปแบบใดบ้าง นั่นคือสิ่งที่เราบอกว่าเราต้องการสื่อสารให้คนที่มากขึ้นไม่ใช่แค่หน้าบาร์แล้ว

สิ่งที่ทำให้โปรเจกต์เกิดขึ้น

ผมเองเป็นคนชอบดื่มและชอบศาสตร์ในการทำค็อกเทลอยู่แล้ว ผมพยายามพาตัวเองไปเรียนรู้วัฒนธรรมกินดื่มในหลาย ๆ พื้นที่ เพื่อที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะของแอลกอฮอล์ และวิธีการหลอมรวมของรสชาติ แต่พอผมมองกลับมาในเมืองไทย มันยังไม่มีคนที่สื่อสารเกี่ยวกับเรื่องการจัดการกับวัตถุดิบมากเท่าไหร่ ซึ่งผมก็อยากจะส่งต่อศาสตร์นี้กับคนทั่วไป เพื่อลองดูว่ามันสามารถจะเป็นไปได้สำหรับทุกคนไหม
Image © wasteland

ประสบการณ์ระหว่างทำโปรเจกต์ที่เป็นประโยชน์และอยากแชร์

ผมชอบการที่ได้นำเสนอกระบวนการความคิด เช่น สมมุติว่าธีมของงานคือเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ที่พัฒนาแนวคิดจากเรื่อง upcycled food (การเปลี่ยนวัตถุดิบอาหารเหลือทิ้งให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่)
 
จากการนำ food surplus (อาหารส่วนเกิน) มาพัฒนาลงบนเครื่องดื่ม โดยหลังจากที่ผู้เข้าร่วมงานได้เห็นว่า food surplus คืออะไรแล้ว แน่นอนเขาจะคิดว่ามันเป็นวัตถุดิบที่มาจากส่วนที่เขาไม่ได้คุ้นชินมาก่อน บางคนจะสามารถเข้าใจและพร้อมที่จะดื่มมัน แต่อีกคนที่เข้าใจแต่ก็ยังไม่ยอมรับที่จะดื่มสิ่งนี้ก็ยังมี
 
พอผมเองมีโอกาสได้เสิร์ฟให้กับผู้คนจากหลายภูมิประเทศ หลายวัฒนธรรม มันเลยทำให้ผมได้การตอบรับที่หลากหลายมาก ‘อ๋อ ถ้าประเทศเขาจะทำแบบนี้นะ’ หรือ ‘ประเทศเขาไม่กินสิ่งนี้เลย แต่กลับกินอีกอย่างนึง’ แล้วมันสนุกตลอดเวลาที่ได้รับประสบการณ์การตอบรับที่หลากหลาย และผมมักจะได้รับความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ
Image © wasteland

บางคนยังมองว่าการนำ food surplus มาใช้คือการคุ้ยขยะที่ผ่านปากผ่านมือคนอื่นมาทำอยู่ ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่เลย และผู้คนยังขาดความเข้าใจในเรื่องนี้อยู่มาก

Image © wasteland

ช่วยยกตัวอย่างวัตถุดิบที่คิดว่ายากในการทำ

ที่ท้าทายมากน่าจะเป็นอาหารทะเล พวกเปลือกหัวกุ้ง เกล็ดปลา ก้างปลา แม้แต่เครื่องในปลา เหตุผลคืออาหารทะเลมันค่อนข้างที่จะ sensitive (อ่อนไหว) และมีจุดเด่นทางรสชาติที่เฉพาะตัว การนำ ชิ้นส่วนที่ผ่านการแล่มาแล้ว มาเก็บรักษาคุณภาพ รักษาความสะอาด และการควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ ถือว่าเป็นวัตถุดิบที่ท้าทายและสนุกมากในหลาย ๆ มิติสำหรับทีมในตอนนั้นที่ได้ทำ


ได้บันทึกสูตรการทำไว้บ้างไหม

บันทึกไว้ทั้งหมด ในอนาคตคาดหวังไว้ว่าจะสามารถตีพิมพ์หรือรวบรวมให้เป็นสื่อเกี่ยวกับการศึกษาได้ เพราะสิ่งนี้คือสิ่งที่เราต้องการจะเน้นย้ำและให้ความสำคัญ

เป้าหมายของโปรเจกต์ในอนาคต

เราพยายามที่พัฒนาเครือข่าย และสร้างคอมมิวนิตีให้แข็งแรง โดยตั้งใจจะพูดในเรื่องที่ใหญ่มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เราอยากที่จะทำงานร่วมงานกับทั้งภาครัฐและต่างชาติ จนสามารถไปแตะในส่วนของอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อที่จะส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น
 

โปรเจกต์ที่ประทับใจและแนะนำให้รู้จัก

ล่าสุดเรามีโอกาสได้ทำโปรเจกต์ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ - FTPI โดยภายในโปรแกรมเราต้องเข้าไปร่วมทำงานกับชุมชน หนึ่งในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ CIV (Creative Industry Village) ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีความแอ๊กถีฟในงานทำงานและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในระยะหนึ่งแล้ว และกำลังพัฒนาพื้นที่นั้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย โจทย์ที่เราได้คือการทำยังไงให้ช่วย upcycled food เพื่อให้หมู่บ้านจัดการผลผลิต วัตถุดิบ และขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
 
เราไม่เคยทำโครงการที่ใหญ่ขนาดนี้มาก่อนและเป็นการทำงานกับภาครัฐด้วย ซึ่งผมไม่เคยคิดเลยว่าการทำงานหน้าบาร์และทำงานเกี่ยวกับสุราจะได้โอกาสมาทำเรื่องนี้ พอเราได้ลงไปทำงานร่วมกับหมู่บ้าน เราพยายามสร้างความเข้าใจเรื่องการจัดการวัตถุดิบให้พวกเขา เพื่อจะให้เขามองกลับไปที่วัตถุดิบที่ใช้กันอยู่แล้วมาต่อยอด จากที่ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยคิดเลยว่ามันสามารถนำมาพัฒนาเป็นโปรดักส์ได้ 
 
นอกจากนี้เรายังได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ ในการดูแลส่วนของการคิดราคา โมเดลธุรกิจ และการสื่อสารให้กับทางหมู่บ้านด้วย พอที่ได้ทำงานร่วมกันก็คิดว่าเขาจะสามารถนำเอาชุดความรู้นี้ไปแชร์กับคนอื่นได้อีก และยังสามารถประยุกต์ใช้กับวัตถุดิบอื่น ๆ ในอนาคตได้อีก หลังที่เราทำโปรแกรมนี้เสร็จ ผมรู้สึกว่าชุดความรู้ที่เกิดขึ้นมันดีมาก และไม่เคยคิดว่าจากคำว่าบาร์มันจะสามารถโตมาไกลได้ขนาดนี้

ผมว่าอาจจะอีกสักพักเลยกว่าธุรกิจอาหารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจะสามารถเข้าถึงคนหมู่มากและกลายเป็นเรื่องทั่วไป ซึ่งถ้ามันกลายเป็นเรื่องทั่วไปเมื่อไหร่ มันก็คงดี เพราะมันได้แสดงให้เห็นว่าคนได้พัฒนาชุดความรู้ขึ้นมาอีกระดับแล้ว

มีความแตกต่างยังไงบ้างระหว่างสถานการณ์โควิดและสถานการณ์ปกติ

ผมคิดว่าถ้า Wasteland ไม่ได้เจอข้อจำกัดที่ท้าทายของช่วงโควิด ก็อาจจะไม่สามารถมาถึงจุดนี้ได้เหมือนกัน เพราะมันเป็นเหมือนตัวเร่งให้เราพยายามปรับตัวอยู่ตลอด เวลาที่น้อยมากเราต้องคิดให้เร็วและคิดให้ออก พอเราลงมือทำเรามองเห็นความเป็นไปได้ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าทุกอย่างต้องใช้เวลาเช่นกัน อย่างในตอนนี้ในกระแสหลักก็กำลังดำเนินมาในจุดที่มีคนเริ่มตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาจจะเป็นเพราะเรื่องภาวะโลกร้อนด้วย ทำให้คนหันมาสนใจมากขึ้น แต่อาจจะยังไม่ได้ไปถึงเรื่องอาหารว่ามันเกี่ยวอะไรกับเรื่องสิ่งแวดล้อม
 
ผมมองว่ามันเป็นปัญหาวัฒนธรรมการผลิตอาหารเป็นปัญหาหลักเชิงโครงสร้าง ที่ผมว่าอาจจะอีกสักพักเลยกว่าธุรกิจอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมจะมาถึงคนหมู่มากและกลายเป็นเรื่องทั่วไป ซึ่งถ้ามันกลายเป็นเรื่องทั่วไปเมื่อไหร่ มันก็คงดี เพราะมันได้แสดงให้เห็นว่าคนได้พัฒนาชุดความรู้ขึ้นมาอีกระดับแล้ว หลังจากนั้นเราค่อยไปลงลึกในเรื่องอื่น ๆ ต่อ
 
แต่ช่วงโควิดมันทำให้เห็นอะไรชัดเจนขึ้นมาค่อนข้างเยอะ เราจะเห็นได้ชัดว่าเมืองไม่สามารถจะรับมือกับปริมาณขยะที่เกิดขึ้นได้เลย และมันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยซ้ำ เมื่อเราเห็นกันแล้วเราได้เรียนรู้อะไรจากตรงนั้นกันบ้างไหม มีการแก้ไขเกิดขึ้นบ้างไหมหลังจากนั้น

ถ้าเราทำแค่คนเดียวเราก็จะรู้และพัฒนาในด้านเดียว แต่ถ้าเราทำกับคนอื่นเราจะได้ความรู้และสามารถต่อยอดเพื่อพัฒนาไปพร้อมกันได้

คำแนะนำสำหรับคนกำลังทำโปรเจกต์

ผมมองว่าเวลาคนเราคิดอะไรมันอาจจะเกิดความฟุ้ง คิดไปไกล อยากจะคิดให้ลึกและพยายามคิดทุกอย่าง แต่ผมว่าการทำงานมันควรทำเป็นหมู่คณะ เราไม่ได้สามารถสร้างโปรเจกต์ที่ดีได้ด้วยมุมมองของคนคนเดียว เราต้องคิดถึงคนอื่นด้วย ไม่ได้คิดถึงแค่ตัวเอง ไม่ใช่แค่การทำตามแพสชันหรือแรงผลักดันที่อยากจะทำอย่างเดียว
 
ถ้าเราทำแค่คนเดียวเราก็จะรู้และพัฒนาในด้านเดียว แต่ถ้าเราทำกับคนอื่นเราจะได้ความรู้และสามารถต่อยอดเพื่อพัฒนาไปพร้อมกันได้ ในบางธุรกิจหรือโปรเจกต์อาจจะมีข้อดีที่เราโฟกัสในเรื่องเดียว แต่จากที่ประสบการณ์ผมทำเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมา มันชัดเจนมากว่าทุกอย่างจะมีระบบนิเวศของมัน ไม่ว่าในธรรมชาติหรือในตัวคน แปลว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เชื่อมกันอยู่ไม่สามารถที่จะถูกสร้างด้วยคนเดียวได้ อีกอย่างคือผมอยากให้ทุกคนมองออกไปข้างนอกบ้าง ไม่อยากให้มองแค่ตัวเองและทำเพื่อตัวเอง ให้พร้อมที่จะเรียนรู้แสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา
 
ผมเองยังมีความรู้สึกเสมอว่า รู้น้อย ต้องหาความรู้เพิ่มตลอดเวลา ในส่วนของอีโก้ คนรอบข้างจะมองคุณแบบไหนก็ตาม แต่ตัวคุณเองจะต้องเช็กตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าจริง ๆ แล้วเรารู้จริงหรือเปล่า แล้วเราจะปรับตัวเอง พัฒนาตัวเอง ได้อย่างไรบ้าง อย่าฟุ้งหรือลงลึกมากเกินควร เปิดหัวเปิดใจ ทุกอย่างมันมีผิดพลาดได้ มีการเรียนรู้ใหม่ได้ ชีวิตเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลามีคนที่เข้ามาแล้วออกไป ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้

Secret Facts

เรื่องสังคมของคนรักสิ่งแวดล้อมมันยังมีมุมมองที่สุดโต่งอยู่ แต่สำหรับผม ผมไม่ได้มองสิ่งนี้ว่าเป็นเรื่องที่ควรถูกตัดสินแบบสุดโต่งขนาดนั้น

เรื่องสังคมของคนรักสิ่งแวดล้อมมันยังมีมุมมองที่สุดโต่งอยู่ บางคนยังคงยึดติดกับวิธีการ สมุมติถ้าอีกคนไม่ได้ทำในสิ่งเดียวกัน เขาคนนั้นก็กลายเป็นคนไม่รักโลก แต่สำหรับผม ผมไม่ได้มองสิ่งนี้ว่าเป็นเรื่องที่ควรถูกตัดสินแบบสุดโต่งขนาดนั้น เรื่องระบบนิเวศมันเป็นเหมือนกันทุกเรื่อง เป็นเรื่องที่เราจำเป็นจะต้องหาจุดที่พอดี มันอาจจะมีบางบริบทหรือบางสถานการณ์ที่มีจำกัดที่ต้องยอมรับตรงนั้น ซึ่งพอเรื่องสิ่งแวดล้อมถูกเน้นย้ำหรือสื่อสาร ว่าเป็นเรื่องของคนดีกับคนไม่ดี ผมมองว่าแทนที่จะทำให้คนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม อาจกลายเป็นว่ายิ่งทำให้คนห่างเหินหรือเมินไปเลย ผมว่าก็น่าคิดเหมือน ว่าเราจะสร้างความเข้าใจกันได้อย่างไรบ้าง
 
เรื่องก็สิ่งแวดล้อมจริง ๆ แล้วก็มีเรื่องที่ใหญ่ที่ฉุกเฉินพอให้เราทุกคนควรเหลียวมองและสนใจ แต่มันยังมีอีกหลากหลายมุมมองและการตอบโต้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ผมเจอ ที่ยังทำให้ผมเห็นมุมมองใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำกันอยู่เสมอ บางคนยังคิดว่าผมเป็นคนที่จ้องจับผิดว่าใครรักโลกหรือไม่รักโลก แต่ผมคิดว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีบริบทที่แตกต่างกันออกไป ในสิ่งที่ผมพูดไม่ได้เป็นการบังคับหรือตัดสินใคร ผมเพียงแค่พูดในฝั่งที่ผมทำอยู่เท่านั้นเอง
 

บทเรียนที่ดีระหว่างทำโปรเจกต์

เรื่องสิ่งแวดล้อมตอนนี้มันเป็นเรื่องที่คนเอาไปเปรียบเทียบว่า ทำแล้วดูดี ไม่ทำแล้วเป็นคนไม่ดี ซึ่งมันทำให้เห็นเลยว่าคนที่ทำเพื่อสร้างภาพและใช้คำว่าสิ่งแวดล้อมมาเป็นข้ออ้างมันออกมาในรูปแบบไหนได้บ้าง ซึ่งมันมีเยอะมาก
 

พูดกันตามตรงผมก็ไม่อยากจะเชื่อเหมือนกัน บางทีชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ผู้คนหรือองค์กรสั่งสมมาให้คนนั้นนับถือ แต่จริง ๆ แล้วกลับไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย แต่เขาก็ยังหากินกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมได้อยู่  ผมรู้สึกดีและโอเคกับการพยายามเข้าใจและเข้าหาคนที่ไม่เข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่า และทำการเรียนรู้แลกเปลี่ยนไปด้วยกัน แต่ผมประหลาดใจและพยายามจะเข้าใจคนที่ใช้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นโอกาสในการหากิน กอบโกย หรือ หาผลประโยชน์ในที่นี้ รวมไปถึง คน องค์กร ที่เมื่อก่อนลงมือทำจริง แต่พอเวลาผ่านไป มีการปรับเปลี่ยน ไม่ได้ทำเหมือนเดิมแต่ยังคงหาผลประโยชน์จากเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ เป็นต้น ซึ่งทำไมก่อนหน้านี้ผมถึงบอกว่าเรื่องความโปร่งใส สำคัญมาก รวมไปถึงการเปิดใจที่พร้อมเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง

เหตการณ์ที่รู้สึกดีใจที่สุดระหว่างการทำโปรเจกต์

ผมรู้สึกดีใจเวลาสิ่งที่ผมพยายามสื่อสารมันเข้าถึงคนได้หลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ หรือวัยรุ่นที่อาจจะเป็นคนที่ไม่ได้เคยสนใจในเรื่องนี้มาก่อน หลาย ๆ คนก็ดีใจที่เรื่องนี้กำลังถูกขับเคลื่อนและพัฒนาต่อไป
 
อย่างล่าสุดผมกลับไปเจอกับนักศึกษาฝึกงานที่เคยมาฝึกงานด้วยกัน โดยก่อนหน้านี้เขาแทบจะไม่ได้มีความสนใจที่จะทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเลย แต่เขาแค่อยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเอาไว้ ผมก็สอนไป ซึ่งในตอนนี้ที่เขามีธุรกิจเป็นของตัวเอง และสามารถพูดได้เต็มปากเลยว่ามีเขามี action plan เกี่ยวกับเรื่องแยกขยะที่ชัดเจน เราก็ดีใจที่เราส่งต่อชุดความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือสูตรต่าง ๆ แล้วคนรับสามารถนำมันไปต่อยอดได้
 
ในเรื่องความรู้ในอุตสาหกรรมอาหารหรือเครื่องดื่มหลาย ๆ คน เขาอาจจะหวงความรู้และข้อมูลที่ได้เรียนรู้สะสมมาหรือแม้แต่ที่มาที่ไปในเรื่องต่าง ๆ นะ แต่เราเปิดหมดเลย ถ้ามีคนมาถามว่าแบบนี้ทำยังไงเราก็จะบอก เพราะเราต้องการให้ความโปร่งใสเกิดขึ้นในวงการอาหาร และเราต้องการที่จะแชร์ถึงความรู้ที่เราได้รับมาเช่นเดียวกัน ผมว่าไม่มีใครที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ภายในวันเดียวหรือทำทุกอย่างคนเดียวได้ ผมมองว่าการส่งต่อความรู้และการมีผู้รับความรู้ไปพัฒนาต่อมันน่าดีใจมากเลย ซึ่งผมเองก็ทำแบบนี้ต่อไป
 

ระหว่างโปรเจกต์ชอบสถานที่ไหนที่สุด

ขอพูดรวม ๆ แล้วกัน ผมชอบทุกครั้งเวลาออกไปลงพื้นที่นอกเมือง ได้อยู่กับธรรมชาติ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มันทำให้เราได้สะท้อนความคิดอยู่ตลอดเวลา พอได้กลับมาในเมืองเราก็สามารถนำปรับอะไรมาใช้ในชีวิตของเราได้  
เลือกสีที่ชอบ
ผมชอบโทนน้ำเงิน สำหรับผมสีน้ำเงินมันอยู่ภายในหลายบริบทมาก มองว่าเป็นน้ำก็ได้ เป็นท้องฟ้าทั้งตอนเช้าและตอนกลางคืน สมมุติพูดถึงโลกหลายคนจะชอบมองว่าโลกเราสีเขียว แต่ผมมองว่าสีฟ้ามันก็เป็นสีของโลกเหมือนกันนะ

EXPLORE MORE